วันเสาร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

การปรับปรุงต่อเติมอาคารที่เช่าใหม่ จดหมายตอบข้อหารือภาษีให้หักค่าเสื่อมราคาอาคาร 20 ปี

สรุป คำตอบจดหมายตอบข้อหารือภาษีอากรได้ดังนี้

1.การตัดบัญชีค่าเสื่อมราคาส่วนปรับปรุงอาคาร อายุตามบัญชีจะตัดตามอายุสัญญาเช่า แต่ทางภาษีจะให้ตัด 20 ปี แล้วตัดเป็นค่าใช้จ่ายเมื่อย้ายออก (อันนี้เป็นความเห็นส่วนตัว)

2.ทางสรรพากรให้หักค่าเสื่อมราคาส่วนปรับปรุงอาคารที่เช่าร้อยละ 5 เท่ากับ 20 ปีแม้ว่าในจดหมายคำถามจะมีอายุการเช่า 6 ปี ต่อได้อีก 3 ปี เท่ากับ 9 ปี

3.จะตัดจ่ายส่วนปรับปรุงอาคารเดิมต้องรื้อทิ้งส่วนเดิมทิ้งก่อน ถึงจะตัดจ่ายในส่วนที่รื้อทิ้งของเดิมได้

อ้างอิงที่มา:-


1.จดหมายตอบข้อหารือภาษีอากร เลขที่ กค 0706/11577
เลขที่หนังสือ: กค 0706/11577
วันที่: 19 พฤศจิกายน 2550
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการหักค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินและรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65 ตรี (5)(13) และมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ
          บริษัท ท. ประกอบกิจการเป็นตัวแทนโฆษณาและรับจ้างผลิตงานโฆษณาได้ทำสัญญาเช่าอาคารจากบริษัท น. ตามหนังสือสัญญาเช่าฉบับลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2547 มีกำหนดระยะเวลาเช่า 6 ปี นับแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2547 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2553 โดยมีสิทธิต่อสัญญาเช่าได้อีก 3 ปี ซึ่งบริษัทฯ ต้องทำสัญญาเช่าใหม่โดยไม่มีค่าสิทธิการเช่า บริษัทฯ ได้ทำการต่อเติมปรับปรุงอาคารเช่าดังกล่าว มีค่าใช้จ่ายออกแบบตกแต่งภายในค่าก่อสร้างงานปรับปรุงภายใน ปูพื้น กั้นห้อง ทำผนัง เพดาน ประตู รวมถึง Built-in furniture งานระบบไฟฟ้างานระบบปรับอากาศและระบายอากาศ งานระบบป้องกันเพลิง งานระบบสุขาภิบาล และงานวางท่อโทรศัพท์ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 25,194,326 บาทในปี 2548 และเป็นเงินทั้งสิ้น 136,683 บาทในปี 2549 ตามสัญญาฉบับดังกล่าวเมื่อครบกำหนดระยะเวลาการเช่าบริษัทฯ ต้องส่งมอบพื้นที่เช่าทรัพย์สินส่วนควบอาคารรวมทั้งส่วนประกอบอาคารทั้งเก่าและใหม่ในสภาพที่ดีให้แก่ผู้ให้เช่า

          บริษัทฯ ขอทราบว่า

          1. บริษัทฯ ต้องคำนวณหักค่าเสื่อมราคาส่วนต่อเติมและปรับปรุงอาคารเช่าในอัตราร้อยละ 5 ตามอัตรา ค่าเสื่อมราคาสำหรับอาคาร หรือสามารถหักค่าเสื่อมราคาในอัตราร้อยละ 100 หารด้วยจำนวนปีอายุการเช่า ตามพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527

          2. บริษัทฯ มีค่าใช้จ่ายจากการเช่าต้นไม้เพื่อวางในบริเวณต่าง ๆ ภายในบริษัทฯเป็นรายเดือน บริษัทฯ มีสิทธินำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายในการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้หรือไม่
แนววินิจฉัย          1. กรณีตาม 1. ค่าต่อเติมและปรับปรุงอาคารเช่า เป็นการทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สิน ถือเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน ก่อให้เกิดประโยชน์เกินกว่าหนึ่งรอบระยะเวลาบัญชีต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ ตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร แต่มีสิทธินำไปหักเป็นค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 4(5) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 เมื่อบริษัทฯ ได้ต่อเติมและปรับปรุงอาคารเช่าโดยมิได้มีการรื้อของเดิมทิ้ง บริษัทฯ จะนำค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินส่วนที่ยังตัดไม่หมดไปหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิทั้งจำนวนไม่ได้ต้องหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาต่อไปจนหมด เว้นแต่บริษัทฯ ได้มีการรื้อหรือทำลายทรัพย์สินนั้น บริษัทฯ จึงมีสิทธิตัดต้นทุนที่เหลืออยู่เป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิทั้งจำนวนในปีที่มีการรื้อหรือทำลายได้

          อนึ่ง การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาต้นทุนดังกล่าวต้องหักในฐานะเป็นมูลค่าต้นทุนของอาคารถาวรซึ่งบริษัทฯ หักได้ไม่เกินร้อยละ 5 ของมูลค่าต้นทุนนั้น ตามมาตรา 4 (1) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527

          2. กรณีตาม 2. รายจ่ายค่าเช่าต้นไม้ เพื่อวางในบริเวณต่าง ๆ ภายในบริษัทฯ เป็นรายเดือน เข้าลักษณะเป็นรายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ บริษัทฯมีสิทธินำไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 70/35458


2.ปัญหาค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา โดย ท่านอาจารย์สุเทพ พงษ์พิทักษ์  Posted in  ข่าวด้านบัญชี Published on 21 มีนาคม 2558


ปุจฉา :-


บริษัทฯ ได้ทำการก่อสร้างอาคารสำนักงานและสิ่งปลูกสร้างลงบนที่ดินที่เช่า มีอายุตามสัญญาเช่า 15 ปี เมื่อครบกำหนดระยะเวลาการเช่าตามสัญญาแล้ว หากไม่มีการต่อสัญญาเช่าออกไปอีก หรือสัญญาเช่าได้สิ้นสุดด้วยเหตุใดก็ดี บริษัทฯ ผู้เช่ายินยอมให้บรรดาอาคารสิ่งปลูกสร้างหรือต่อเติมที่ผู้เช่าได้ทำการปลูก สร้างลงบนที่ดินที่เช่าทั้งหมดตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ให้เช่าทันที บริษัทฯ ขอทราบว่า การคำนวณค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินส่วนที่เป็นอาคาร และทรัพย์สินอื่นที่เป็นสิ่งปลูกสร้างซึ่งไม่ใช่อาคาร อย่างไร 

วิสัชนา :-

การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินที่เป็นอาคาร ให้คำนวณหักได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขและอัตราที่กำหนดตามมาตรา 65 ทวิ (2) และพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 โดยบริษัทฯ มีสิทธิหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินที่เป็นอาคารถาวรได้ไม่ เกินอัตราร้อยละ 5 ของมูลค่าต้นทุนและบริษัทฯ มีสิทธิหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินอื่นซึ่งโดยสภาพของทรัพย์สิน นั้น สึกหรอหรือเสื่อมราคาได้นอกจากที่ดินและสินค้าได้ในอัตราร้อยละ 20 ของมูลค่าต้นทุน ทั้งนี้ ตามมาตรา 4 (1) และ (5) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ. ศ. 2527 (แนวคำตอบข้อหารือกรมสรรพากรเลขที่ กค 0706/4713 ลงวันที่ 11 พฤษภาคม 2550) 

3.พระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยหักค่าสึกหรอ และค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527

มาตรา 4  การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินให้คำนวณหักตามระยะเวลาที่ได้ทรัพย์สินนั้นมาในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีในกรณีที่รอบระยะเวลาใดไม่เต็มสิบสองเดือนให้เฉลี่ยตามส่วนสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ทั้งนี้ ไม่เกินอัตราร้อยละของมูลค่าต้นทุนตามประเภทของทรัพย์สิน ดังต่อไปนี้                     
(1) อาคาร
      อาคารถาวร   ร้อยละ 5
      อาคารชั่วคราว   ร้อยละ 100
(2) ต้นทุนเพื่อการได้มาซึ่งแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สูญสิ้นไปได้   ร้อยละ 5

(3) ต้นทุนเพื่อการได้มาซึ่งสิทธิการเช่า
              กรณีไม่มีหนังสือสัญญาเช่า หรือมีหนังสือสัญญาเช่าที่มีข้อกำหนด
      ให้ต่ออายุการเช่าได้ โดยเงื่อนไขในการต่ออายุนั้นเปิดโอกาสให้ต่ออายุ
      การเช่ากันได้ต่อ ๆ ไป   ร้อยละ 10
              กรณีมีหนังสือสัญญาเช่าที่ไม่มีข้อกำหนดให้ต่ออายุการเช่าได้หรือ
      มีข้อกำหนดให้ต่ออายุการเช่าได้เพียงระยะเวลาอันจำกัดแน่นอน   ร้อยละ 100 หาร
   ด้วยจำนวนปีอายุ
   การเช่าและอายุที่
   ต่อได้รวมกัน
(4) ต้นทุนเพื่อการได้มาซึ่งสิทธิในกรรมวิธีสูตร กู๊ดวิล เครื่องหมายการค้า
      สิทธิประกองกิจการตามใบอนุญาต สิทธิบัตร ลิขสิทธิ์หรือสิทธิอย่างอื่น
              กรณีไม่จำกัดอายุการใช้   ร้อยละ 10
              กรณีจำกัดอายุการใช้   ร้อยละ 100
   ด้วยจำนวนปีอายุ
   การใช้
(5) ทรัพย์สินอย่างอื่น ซึ่งโดยสภาพของทรัพย์สินนั้นสึกหรอหรือ
      เสื่อมราคาได้นอกจากที่ดินและสินค้า   ร้อยละ 20


                    กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาโดยใช้วิธีการทางบัญชีที่รับรองทั่วไป ซึ่งมีอัตราการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาไม่เท่ากันในแต่ละปีระหว่างอายุการใช้ทรัพย์สิน บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นจะหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามวิธีนั้นในบางปีเกินอัตราที่กำหนดข้างต้นก็ได้ แต่จำนวนปีอายุการใช้ของทรัพย์สินเพื่อการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาต้องไม่น้อยกว่า 100 หารด้วยจำนวนร้อยละที่กำหนดข้างต้น 




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น