วันอังคารที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ภาระภาษีกรณีขนส่งสินค้า VS การให้บริการส่งสินค้าเพื่อมุ่งความสำเร็จของงาน

สรุปความเห็นส่วนตัวจากจดหมายตอบข้อหารือ:-

1.สัญญาขนส่งสินค้า คือการดำเนินการขนส่งสินค้าจากที่หนึ่งไปยังอีกแห่งหนึ่งโดยไม่มีการให้บริการใดเพิ่มเติม ถือเป็นการให้บริการขนส่ง ตามมาตรา ๖๐๘ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เข้าลักษณะเป็นการให้บริการขนส่งในราชอาณาจักร ไม่เข้าลักษณะเป็นสัญญาจ้างทำของตามมาตรา ๕๘๗ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 

ภาระภาษี
อากรแสตมป์  ----> สัญญาขนส่งไม่ต้องติดอากรแสตมป์
ภาษีมูลค่าเพิ่ม----> ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม
ภาษีถูกหัก ณ ที่จ่าย ----> ร้อยละ 1จากรายรับ

2.สัญญาจ้างทำของ คือ การกระทำที่มุ่งถึงผลสำเร็จของงานมากกว่าการให้บริการขนส่ง เข้าลักษณะเป็นสัญญาจ้างทำของตามมาตรา ๕๘๗ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ภาระภาษี
อากรแสตมป์  ----> สัญญาจ้างทำของ ตามมาตรา ๕๘๗ แห่งประมวลกฎหมาย                                   แพ่งและพาณิชย์ ผู้รับจ้างมีหน้าที่ต้องเสียอากรแสตมป์ 
ภาษีมูลค่าเพิ่ม----> ภาระภาษีมูลค่าเพิ่ม
ภาษีถูกหัก ณ ที่จ่าย ----> ร้อยละ 3 จากรายรับ

เลขที่หนังสือ: 0702/6433
วันที่: 9 กรกฎาคม 2558
เรื่อง: อากรแสตมป์ กรณีสัญญาขนส่งสินค้า
ข้อกฎหมาย: ลักษณะแห่งตราสาร ๔. และ 6 แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์
ข้อหารือ          บริษัท ก. จำกัด หารือปัญหาอากรแสตมป์ กรณีสัญญาขนส่งสินค้า ดังนี้
          ๑.หากเป็นสัญญาขนส่งสินค้า โดยผู้รับจ้างขนส่งสินค้าของผู้ว่าจ้างจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง สัญญาต้องเสียอากรแสตมป์หรือไม่ อย่างไร
          ๒.หากเป็นสัญญาขนส่งสินค้า โดยผู้รับจ้างต้องมีรถยกเพื่อขนสินค้าของผู้ว่าจ้างจากคลังสินค้าเรียงขึ้นรถบรรทุก รวมถึงผู้รับจ้างจัดให้มีกรรมกรประจำรถอย่างน้อย ๑ คน เพื่อขนสินค้าลงเรียงกองเก็บ ณ หน่วยงานลูกค้าของผู้ว่าจ้าง และ/หรือหน่วยรับสินค้าปลายทางตามข้อตกลงที่ได้ตกลงกันไว้ กรณีขนขึ้นอาคารให้ขนขึ้นได้ถึงชั้นที่ ๒ หากเกินนั้นให้ผู้รับจ้างแจ้งให้ผู้ว่าจ้างทราบเพื่อตกลงค่าจ้างเป็นครั้งคราวโดยไม่ชักช้า สัญญานี้ต้องเสียอากรแสตมป์หรือไม่ อย่างไร
แนววินิจฉัย          ๑.กรณีตาม ๑. หากเป็นสัญญาขนส่งสินค้า ซึ่งมีการดำเนินการขนส่งสินค้าจากที่หนึ่งไปยังอีกแห่งหนึ่งโดยไม่มีการให้บริการใดเพิ่มเติม ถือเป็นการให้บริการขนส่ง ตามมาตรา ๖๐๘ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เข้าลักษณะเป็นการให้บริการขนส่งในราชอาณาจักร ไม่เข้าลักษณะเป็นสัญญาจ้างทำของตามมาตรา ๕๘๗ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้รับจ้างขนส่งจึงไม่มีหน้าที่เสียอากรแสตมป์ ตามลักษณะแห่งตราสาร ๔. แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ แต่อย่างไรก็ดี กรณีผู้รับจ้างขนส่งมีการออกใบรับของซึ่งออกให้เนื่องจากกิจการรับขนสินค้าและลงลายมือชื่อพนักงานหรือนายสินค้าของยานพาหนะรับขนส่ง ซึ่งออกรับของดังระบุไว้ในใบรับนั้นเมื่อไม่ได้ออกบิลออฟเลดิง ผู้ออกใบรับของดังกล่าวจะต้องเสียอากรแสตมป์ฉบับละ ๑ บาท ามลักษณะแห่งตราสาร ๑๖. ใบรับของ แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์
          ๒.กรณีตาม ๒. หากเป็นสัญญาขนส่งสินค้า โดยผู้รับจ้างต้องมีรถยกเพื่อขนสินค้าของผู้ว่าจ้างจากคลังสินค้าเรียงขึ้นรถบรรทุก รวมถึงผู้รับจ้างจัดให้มีกรรมกรประจำรถอย่างน้อย ๑ คน เพื่อขนสินค้าลงเรียงกองเก็บ ณ หน่วยงานลูกค้าของผู้ว่าจ้าง และ/หรือหน่วยรับสินค้าปลายทาง หากเป็นบริการที่มุ่งผลสำเร็จของงาน เข้าลักษณะเป็นสัญญาจ้างทำของ ตามมาตรา ๕๘๗ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้รับจ้างมีหน้าที่ต้องเสียอากรแสตมป์ ๑ บาท ทุกจำนวนเงิน ๑,๐๐๐ บาท หรือเศษของ ๑,๐๐๐ บาท แห่งสินจ้างที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้างทำของ ทั้งนี้ ตามลักษณะแห่งตราสาร ๔. จ้างทำของ แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์
เลขตู้
: 78/39770

เลขที่หนังสือ: 0702/6801
วันที่: 22 กรกฎาคม 2558
เรื่อง: ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีกิจการขนส่งสินค้าโดยรถควบคุมอุณหภูมิ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 77/1(10) และมาตรา 77/2(1) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          บริษัท A จำกัด ประกอบกิจการรับจ้างขนส่งสินค้าประเภทอาหาร เช่น อาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง เนื้อสัตว์แช่แข็ง ผลิตภัณฑ์นม ขนมปังแซนวิช ไอศครีม เป็นต้น และต้องใช้รถขนส่งที่ต้องควบคุมอุณหภูมิตลอดเส้นทางการขนส่งและต้องเก็บรักษาในคลังสินค้าควบคุมอุณหภูมิเท่านั้นเพื่อให้สินค้าคงสภาพสดไม่เน่าเสีย โดยลักษณะการให้บริการของบริษัทฯ คือ

          ๑.บริการคลังสินค้าควบคุมอุณหภูมิ (Cold Storage Service) พร้อมกระจายสินค้าในลักษณะบริการครบวงจร (Total Solution) สำหรับเก็บรักษาสินค้าประเภทอาหารสด อาหารแช่แข็ง โดยรักษาอุณหภูมิให้ได้ตามมาตรฐาน GMP ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลในการควบคุมการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับอาหาร โดยบริษัทฯ รับสินค้าจากลูกค้าโดยรถควบคุมอุณหภูมิซึ่งติดตั้งอุปกรณ์บันทึกอุณหภูมิระหว่างขนส่ง (Temperature Tracking) ให้เหมาะสมกับสภาพสินค้าแต่ละประเภท และมีระบบติดตามการเคลื่อนที่ (Real - time GPS) เพื่อให้สามารถกระจายสินค้าได้ตรงเวลา และควบคุมความเร็วในการขับขี่เพื่อความปลอดภัย บริษัทฯ จะนำสินค้าของลูกค้ามาเก็บรักษาไว้ในคลังสินค้าควบคุมอุณหภูมิของบริษัทฯ (อุณหภูมิอยู่ในช่วง ๒๕ องศาเซลเซียส ถึง ๕ องศาเซลเซียส ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของสินค้าที่ลูกค้าแจ้ง) โดยในช่วงการขนถ่ายสินค้าลงจากรถเพื่อเก็บเข้าคลังสินค้า บริษัทฯ มีระบบ Air Shelter เพื่อป้องกันไม่ให้อากาศภายนอกเข้ามาภายในรถและคลังสินค้าซึ่งจะมีผลต่อการควบคุมอุณหภูมิและทำให้สินค้าเน่าเสียได้ บริษัทฯ มีหน้าที่จัดเรียงสินค้าในคลังสินค้า ติดฉลากสินค้า รวมถึงการจัดการบรรจุภัณฑ์ (Repacking)เช่นแบ่งบรรจุ หรือเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ด้วย และกระจายสินค้าโดยรถควบคุมอุณหภูมิไปยังปลายทางตามที่ลูกค้ากำหนด โดยบริษัทฯ จะทำสัญญากับลูกค้าเป็นสัญญาให้บริการซึ่งตามสัญญาจะกำหนดให้บริษัทฯ มีหน้าที่กระจายสินค้า เก็บรักษาสินค้าในคลังสินค้าควบคุมอุณหภูมิ และบริหารจัดการคลังสินค้า หากบริษัทฯ ทำให้สินค้าสูญหายหรือเสียหายเนื่องจากการปฏิบัติงาน เช่นอุณหภูมิไม่ได้ตามที่ลูกค้าต้องการ ลูกค้ามีสิทธิปฏิเสธสินค้าและบริษัทฯ ต้องรับผิดชอบค่าเสียหายดังกล่าว

          ๒.บริการกระจายสินค้าโดยรถควบคุมอุณหภูมิ สำหรับสินค้าที่จำเป็นต้องเก็บรักษาในอุณหภูมิที่กำหนด เช่น อาหารสด อาหารแช่แข็ง ผลิตภัณฑ์นม ที่ต้องเก็บรักษาในอุณหภูมิตามมาตรฐาน GMP ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลในการควบคุมการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับอาหาร บริษัทฯ ต้องตรวจสอบคุณภาพบรรจุภัณฑ์สินค้า ควบคุมคุณภาพและสุขอนามัยอย่างเคร่งครัด เนื่องจากวัตถุประสงค์หลักของการให้บริการและความต้องการของลูกค้า คือ การรักษาสินค้าให้คงสภาพสด ไม่เน่าเสีย ตลอดระยะเวลาที่กระจายสินค้า การให้บริการจึงต้องดำเนินการโดยใช้รถควบคุมอุณหภูมิตลอดเส้นทางเท่านั้น และรถควบคุมอุณหภูมิต้องติดตั้งอุปกรณ์บันทึกอุณหภูมิระหว่างกระจายสินค้า (Temperature Tracking) อุปกรณ์ป้องกันความเสียหายของสินค้า และระบบติดตามการเคลื่อนที่ (Real - time GPS) เพื่อความปลอดภัยของสินค้าดังกล่าว โดยบริษัทฯ จัดเตรียมอุณหภูมิในรถบรรทุกให้ได้อุณหภูมิตามที่ลูกค้าต้องการก่อนไปรับสินค้า (Pre cool) ซึ่งก่อนที่จะนำสินค้าขึ้นรถพนักงานจะต้องตรวจสอบอุณหภูมิในรถและอุณหภูมิสินค้าอีกครั้งว่าได้อุณหภูมิตามที่กำหนดหรือไม่ หากสินค้ายังไม่ได้อุณหภูมิตามที่กำหนดพนักงานห้ามนำสินค้าขึ้นรถโดยเด็ดขาดเพราะอาจทำให้สินค้าเน่าเสียได้ หลังจากตรวจสอบอุณหภูมิแล้วพนักงานขับรถและพนักงานติดรถมีหน้าที่นำสินค้าขึ้นรถ และในระหว่างกระจายสินค้า บริษัทฯ ต้องควบคุมอุณหภูมิให้คงที่ตามช่วงอุณหภูมิที่หมาะสมกับสินค้าด้วย เพราะหากสินค้าเน่าเสียระหว่างการเดินทางลูกค้ามีสิทธิปฏิเสธไม่รับสินค้าและบริษัทฯ ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายดังกล่าว ในระหว่างกระจายสินค้าบริษัทฯ จะติดตามการกระจายสินค้าและควบคุมความเร็วในการขับขี่ (Real - time GPS) และอุณหภูมิ (Temperature Tracking) ว่าตรงตามเกณฑ์ที่กำหนดหรือไม่ เมื่อบริษัทฯ กระจายสินค้าไปยังปลายทางตามที่กำหนดพนักงานขับรถและพนักงานติดรถมีหน้าที่นำสินค้าลงจากรถและจัดเรียงให้เรียบร้อย บริษัทฯ มีหน้าที่จัดทำรายงานสรุปผลการกระจายสินค้าให้แก่ลูกค้าด้วย

          ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายในการติดตั้งอุปกรณ์ตามข้อ ๑ และ ๒ ดังกล่าวเป็นของบริษัทฯ โดยบริษัทฯ เรียกเก็บค่าจ้างจากเจ้าของสินค้าเป็นจำนวนเงินต่อเที่ยว ซึ่งขึ้นกับน้ำหนัก ปริมาณ ชนิดของสินค้า ตลอดจนระยะทางขนส่ง และหากบริษัทฯ ทำให้สินค้าเน่าเสียระหว่างขนส่ง บริษัทฯ ต้องจ่ายค่าปรับให้กับลูกค้าด้วย บริษัทฯ เข้าใจว่า การประกอบกิจการรับขนส่งอาหารสด โดยรถควบคุมอุณหภูมิเป็นการให้บริการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ ๓.๐ เนื่องจากบริษัทฯ ให้บริการขนส่งแก่ลูกค้า โดยมุ่งผลสำเร็จของงานมากกว่าการขนส่งสินค้าจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง จึงขอทราบว่า ความเข้าใจของบริษัทฯ ถูกต้องหรือไม่

แนววินิจฉัย

        กรณีบริษัทฯ ประกอบกิจการรับจ้างขนส่งสินค้าประเภทอาหาร เช่น อาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง เนื้อสัตว์แช่แข็ง ผลิตภัณฑ์นม ขนมปังแซนวิช ไอศครีม น้ำผลไม้ เป็นต้น โดยการดำเนินการดังกล่าว บริษัทฯ จัดเตรียมอุณหภูมิในรถบรรทุกให้ได้อุณหภูมิตามที่ลูกค้าต้องการก่อนไปรับสินค้า (Pre cool) บริษัทฯ ต้องใช้รถบรรทุกที่ติดตั้งเครื่องทำความเย็น และเครื่องควบคุมอุณหภูมิให้คงที่ตามช่วงอุณหภูมิที่ลูกค้า (เจ้าของสินค้า) กำหนด เพื่อรักษาอุณหภูมิให้เหมาะสมกับสภาพสินค้าแต่ละประเภท บริษัทฯ จะติดตามการกระจายสินค้าและควบคุมความเร็วในการขับขี่โดยติดตั้งอุปกรณ์บันทึกอุณหภูมิระหว่างการขนส่ง (Temperature Tracking) อุปกรณ์ป้องกันความเสียหายของสินค้า และระบบติดตามการเคลื่อนที่ (Real - time GPS) และอุปกรณ์อื่นๆ ที่จำเป็นตามที่ลูกค้ากำหนด เพื่อป้องกันความเสียหายของสินค้า ซึ่งลูกค้าสามารถเข้าตรวจสอบการรักษาอุณหภูมิระหว่างขนส่งได้ เมื่อบริษัทฯ กระจายสินค้าไปยังปลายทางตามที่กำหนดแล้วมีหน้าที่ต้องทำรายงานสรุปผลการกระจายสินค้าให้แก่ลูกค้า พนักงานขับรถและพนักงานติดรถมีหน้าที่นำสินค้าลงจากรถและจัดเรียงให้เรียบร้อย บริษัทฯ มีหน้าที่จัดทำรายงานสรุปผลการกระจายสินค้าให้แก่ลูกค้าด้วย และบริษัทฯ มีหน้าที่จัดเรียงสินค้าในคลังสินค้า ติดฉลากสินค้า รวมถึงการจัดการบรรจุภัณฑ์ (Repacking) และกระจายสินค้าโดยรถควบคุมอุณหภูมิไปยังปลายทางตามที่ลูกค้ากำหนด โดยบริษัทฯ จะเรียกเก็บค่าจ้างจากเจ้าของสินค้าเป็นจำนวนเงินต่อเที่ยวซึ่งขึ้นกับน้ำหนัก ปริมาณ ชนิดของสินค้า ตลอดจนระยะทางขนส่ง และหากสินค้าเน่าเสียระหว่างขนส่งบริษัทฯ ต้องจ่ายค่าปรับให้กับลูกค้า การให้บริการขนสินค้าโดยใช้รถยนต์ที่มีห้องควบคุมอุณภูมิดังกล่าว จึงเป็นการกระทำที่มุ่งถึงผลสำเร็จของงานมากกว่าการให้บริการขนส่ง เข้าลักษณะเป็นสัญญาจ้างทำของตามมาตรา ๕๘๗ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา ๗๗/๑ (๑๐) และมาตรา ๗๗/๒ (๑) แห่งประมวลรัษฎากรและผู้จ่ายค่าบริการซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ ๓.๐ ตามข้อ ๘ (๒) ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป. ๔/๒๕๒๘ เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๔๐ แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ ๒๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๘

เลขตู้

: 78/39796







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น