วันพฤหัสบดีที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2558

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีการขายที่ดินซึ่งถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน

เรื่อง : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีการขายที่ดินซึ่งถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน
เลขที่หนังสือ กค 0811/00872 ลงวันที่ 23 มกราคม 2541
ข้อกฎหมาย : ประเด็นปัญหา

ข้อหารือ : 
ผู้ขายและพวก ได้ร่วมกันซื้อที่ดิน เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2534 โดยได้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันและได้จดทะเบียนบรรยายส่วนไว้ ต่อมาในปี 2535 ผู้ขายและพวกบางคนได้ประสบภาวะขาดแคลนทางการเงินจึงมีความจำเป็นต้องขายที่ดินดังกล่าวไป เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2535 โดยได้โอนที่ดินดังกล่าวให้แก่บริษัท ซึ่งเป็นผู้ซื้อในลักษณะเดิมที่ได้ซื้อมา ผู้ขายและพวกบางคนได้นำรายรับที่ได้จากการขายที่ดินตามส่วนที่ตนมีไปยื่นแบบ ภ.ธ.40 เพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะแล้ว ดังนั้น ในส่วนของบางคน ซึ่งยังมิได้นำรายรับมาเสียภาษีธุรกิจเฉพาะพวกที่ยังมีชีวิตอยู่จะต้องรับผิดชอบในหนี้ภาษี หรือไม่ อย่างไร

แนววินิจฉัย :
1. ตามข้อเท็จจริง แม้ในโฉนดดังกล่าวจะได้มีการบรรยายส่วนการถือกรรมสิทธิ์ไว้ แต่เมื่อไม่ได้จดทะเบียนบรรยายถึงว่า ของใครอยู่ส่วนไหนเป็นจำนวนเนื้อที่เท่าใดชัดแจ้งแล้ว กรณีถือได้ว่าบุคคลเหล่านั้นเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม ตามมาตรา 1356 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ประกอบกับเมื่อตามข้อเท็จจริง บุคคลทั้งหมดได้ที่ดินดังกล่าวมาพร้อมกันและได้ขายให้กับผู้ซื้อซึ่งเป็นบริษัทเดียวกันในเวลาพร้อมกัน มิใช่แต่ละคนแบ่งแยกขายเฉพาะส่วนของตน กรณีถือได้ว่าบุคคลเหล่านั้นมีเจตนาร่วมลงทุนในการซื้อขายที่ดินแปลงดังกล่าว จึงต้องเสียภาษีในนามห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล เจ้าของกรรมสิทธิ์รวมแต่ละคนจะแยกยื่นเสียภาษีในนามของตนเองไม่ได้
2. ตามข้อเท็จจริง เมื่อผู้ขายและพวกบางคนได้นำรายรับที่ได้จากการขายที่ดินตามส่วนที่ตนมี ไปยื่นแบบ ภ.ธ.40 เพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะในนามของแต่ละบุคคลแล้ว เข้าลักษณะเป็นการยื่นแบบแสดงรายการผิดหน่วยภาษี เนื่องจากในการเสียภาษีในนามของห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล บุคคลผู้เข้าร่วมในคณะบุคคลดังกล่าวต้องรับผิดร่วมกันเพื่อหนี้ทั้งปวงของห้างโดยไม่มีจำกัด ทั้งนี้ตามมาตรา 1025 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น ผู้ขายและพวก จึงต้องรับผิดร่วมกันในหนี้ภาษีอากรจากการขายที่ดินดังกล่าว โดยกรมสรรพากรมีสิทธิจะเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้แต่คนใดคนหนึ่งสิ้นเชิงหรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก แต่ลูกหนี้ทั้งปวงก็ยังคงต้องผูกพันอยู่ทั่วทุกคนจนกว่าหนี้นั้นจะได้ชำระเสร็จสิ้นเชิง ทั้งนี้ ตามมาตรา 291 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น