วันพุธที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2558

ระวังลดทุน ถือเป็นการจ่ายปันผลถูกกรมสรรพากรประเมินภาษี



ที่มา FanPages :- สุเทพ พงษ์พิทักษ์

คุณณัฐธยาน์ “หัวใจ สะพายเป้” ได้เขียนไปบนไทม์ไลน์ “สุเทพ พงษ์พิทักษ์” เมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา 19:30 น. ว่า
“กราบเรียน อาจารย์สุเทพ _/l\_
ลูกศิษย์มีปัญหา (ของลูกค้าทางบัญชี) ที่กำลังเกิดขึ้น ณ ขณะนี้ ดังรายละเอียดต่อไปนี้ค่ะ
งบการเงิน ณ 31 ธ.ค. 2553
- มีทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท
- มีกำไรสะสม 8,200,000 บาท
- มีเงินสดและเงินฝากธนาคาร 18,200,000 บาท
ในวันที่ 8 ก.ค. 2554 ทางห้างฯ จึงลดทุนเหลือเพียง 500,000 บาท
(ลดทุนไป 9,500,000 บาท)
งบการเงิน ณ 31 ธ.ค. 54
- มีทุนคงเหลือ 500,000 บาท
- มีกำไรสะสม 8,300,000 บาท
- มีเงินสดและเงินฝากธนาคาร 8,800,000 บาท
เมื่อสิ้นปี 2555, 2556 ได้มีการจ่ายเงินปันผลจำนวน 600,000 บาทและ 1,100,000 บาท ตามลำดับ
และได้มีเหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อเดือน ธ.ค. 2557 เจ้าหน้าที่ได้ทำการประเมิน โดยมีผลให้ชำระภาษีเพิ่มเป็นจำนวน 3,200,000 บาท (ภ.ง.ด.2 ) เนื่องจากถือว่าเป็นการลดทุนในขณะที่มีกำไรสะสม ตามมาตรา 40 (4)(ง)
จากกรณีที่เกิดขึ้น ขอเรียนปรึกษาอาจารย์ว่า
ภาษีที่ให้ชำระเพิ่มจากการถูกประเมิน ทางห้างฯ มีหนทาง, ทางเลือก เพื่อขอให้งดหรือลดเบี้ยปรับ ต่อผลการประเมินของเจ้าหน้าที่ ได้หรือไม่, อย่างไร
ขอบพระคุณในคำตอบของอาจารย์เป็นอย่างสูงค่ะ”
เรียน คุณณัฐธยาน์ “หัวใจ สะพายเป้”
ต่อข้อถาม ขอเรียนว่า
ต้องขอโทษที่ตอบปัญหานี้ล่าช้าไปมากๆ อาจก่อให้เกิดความเสียหายไปแล้ว
เกี่ยวกับการลดทุนในขณะที่ยังมีกำไรสะสมที่จะถือเป็นได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4)(ง) แห่งประมวลรัษฎากร เงินได้ที่เป็น “(ง) เงินลดทุนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเฉพาะส่วนที่จ่ายไม่เกินกว่ากำไรและเงินที่กันไว้รวมกัน” นั้น ผมได้อภิปรายใน fb นี้หลายต่อหลายครั้งมากแล้วว่า ต้องเป็นการลดกำไรสะสมในขณะที่ลดทุน จึงจะเข้าลักษณะเป็นผลประโยชน์ที่ได้จากการลดทุนอย่างแท้จริง เพียงแต่การลดทุนหรือการคืนทุนนั้น ยังไม่อาจถือเป็นเงินได้อันเป็น “ผลได้จากทุน” (Capital Gain) ตามเจตนารมณ์ของการบัญญัติมาตรา 40 (4) แห่งประมวลรัษฎากร แต่อย่างใด
แต่ต้วยตัวหนังสือ เขียนรวบรัดมาก จนทำให้เข้าใจไปได้ว่า เงินลดทุนเฉพาะส่วนที่จ่ายไม่เกินกว่ากำไรหรือเงินที่กันไว้รวมกัน ถือเอาเงินทุนที่ลดมาถือเป็นเงินได้ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด มาตลอดในยุคหลังมานี้ เพราะความไมเข้าใจถึงพื้นฐานของการเกิดเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) แห่งประมวลรัษฎากร รวมทั้งไม่พิจารณาให้รอบด้านถึงข้อ (อื่นๆ) ในมาตรา 40 (4) แห่งประมวลรัษฎากร อาทิ (จ) เงินเพิ่มทุนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งตั้งจากกำไรที่ได้มาหรือเงินที่กันไว้รวมกัน อันเป็นด้านตรงกันข้ามของ (ง) ที่จะถือเป็นเงินได้พึงประเมินได้ก็ต่อเมื่อมีการนำกำไรสะสมมาเพิ่มเป็นทุน
นอกจากนี้ การจัดเก็บภาษีเงินได้ได้นำแนวคิดจากหลักการทางบัญชีมาปรับให้เป็นแนวคิดทางภาษีอากร ซึ่งในการลดทุนนั้น ในทางหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป ไม่มีชาติใดกำหนดให้ถือเป็นเงินได้พึประเมิน นอกจากเจ้าหน้าที่สรรพากรไทย แต่เพียงประเทศเดียว ซึ่งมองว่าเป็นเรื่องน่าละอาย (ashame) แสดงความดิบให้เห็น แถมยังจัดเก็บภาษีซ้ำซ้อนเมื่อมีการจ่ายเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรจริงหลังจากนั้น โดยอ้างว่าเป็นคนละข้อ (ช่างน่าไม่อาย ที่ไม่เข้าใจเจตนารมณ์ของการบัญญัติบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากรเสียเลย)
แต่อย่าเพิ่งท้อถอยโดยเด็ดขาด ให้เหตุผลของการเกิดเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) แห่งประมวลรัษฎากร อันเป็น “ผลได้จากทุน” ว่าต้องเป็นเงินได้จากทรัพย์สินที่งอกเงยเพิ่มขึ้นจากทุนเดิม จะนำเงินทุนมาถือเป็นเงินได้ไม่ได้โดยเด็ดขาด และให้อุทธรณ์หรือโต้แย้งจนถึงที่สุด

ความเห็นส่วนตัวของผู้นำเสนอ ไม่มีความเกี่ยวข้องใดกับ อ.สุเทพ พงษ์พิทักษ์ นะครับ

สรุปวิธีแก้แบบง่าย คือ 
จ่ายปันผลบริษัท หรือ ส่วนแบ่งกำไรของหจก 
ให้หมดก่อนแล้วค่อยลดทุนจะไม่มีปัญหานี้ ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น