วันศุกร์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2558

การคำนวณอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมกับบริษัทในเครือ และกรรมการบริษัท

ที่มาจดหมายตอบข้อหารือกรมสรรพากร

เลขที่หนังสือ: กค 0702/8010
วันที่: 4 กันยายน 2556
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการคำนวณดอกเบี้ยเงินกู้ยืมของบริษัทในเครือ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          บริษัทฯ ได้หารือเกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการคำนวณดอกเบี้ยเงินกู้ยืมของบริษัทในเครือ สรุปข้อเท็จจริงได้ดังนี้
          บริษัทฯ ได้ให้บริษัทในเครือกู้ยืมเงิน และคิดดอกเบี้ยโดยอ้างอิงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบมีระยะเวลา (MLR) ของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งไม่ใช่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่แท้จริงของบริษัทฯ ทั้งเงินกู้ที่เป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัทฯ และแหล่งเงินกู้จากภายนอก จึงขอหารือว่า
          1. กรณีบริษัทฯ นำเงินทุนหมุนเวียนของบริษัทฯ มาให้บริษัทในเครือกู้ยืม บริษัทฯ สามารถคิดดอกเบี้ยกับบริษัทในเครือในอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารประเภทเงินฝากประจำ แทนที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ (MLR) ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่บริษัทฯ ใช้อยู่ในปัจจุบัน จะถือว่าถูกต้องและมีเหตุสมควรใช่หรือไม่
          2. กรณีบริษัทฯ กู้เงินจากแหล่งเงินทุนภายนอกมารวมกับเงินทุนหมุนเวียนของบริษัทฯ เพื่อให้บริษัทในเครือกู้ยืม บริษัทฯ สามารถคิดอัตราดอกเบี้ยเป็น ๒ ส่วน คือถ้าเป็นเงินที่มาจากเงินทุนหมุนเวียนของบริษัทฯ คิดดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารประเภทเงินฝากประจำ ส่วนเงินที่มาจากแหล่งเงินกู้ภายนอกคิดดอกเบี้ยในอัตราเดียวกันกับที่บริษัทกู้มาจากธนาคารพาณิชย์ ถูกต้องหรือไม่ หากไม่ใช่จะต้องปฏิบัติอย่างไร
          3. กรณีบริษัทฯ กู้เงินจากแหล่งเงินทุนภายนอกมารวมกับเงินทุนหมุนเวียนของบริษัทฯ เพื่อให้บริษัทในเครือกู้ยืม และบริษัทฯ ไม่สามารถแยกแหล่งเงินทุนได้ว่ามาจากแหล่งเงินทุนหมุนเวียนหรือแหล่งเงินกู้ยืมภายนอก บริษัทฯ สามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยโดยอ้างอิงตามอัตราถัวเฉลี่ยระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่บริษัทฯ กู้มาจากธนาคารพาณิชย์ ถือว่ามีเหตุอันสมควรในการคิดดอกเบี้ยใช่หรือไม่ หากไม่ใช่จะต้องปฏิบัติอย่างไร
แนววินิจฉัย          1. กรณีบริษัทฯ ให้บริษัทในเครือกู้ยืมเงิน บริษัทฯ ต้องคิดดอกเบี้ยตามอัตราดอกเบี้ยที่ได้ตกลงกันแต่ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวต้องไม่ต่ำกว่าราคาตลาด ดังนั้น
               (1.1) กรณีบริษัทฯ นำเงินทุนหมุนเวียนของบริษัทฯ มาให้บริษัทในเครือกู้ยืม บริษัทฯ สามารถคิดดอกเบี้ยกับบริษัทในเครือในอัตราไม่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารประเภทเงินฝากประจำ
               (1.2) กรณีบริษัทฯ กู้เงินจากแหล่งเงินทุนภายนอกมาให้บริษัทในเครือกู้ยืม บริษัทฯ สามารถคิดดอกเบี้ยกับบริษัทในเครือในอัตราไม่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในเวลาที่บริษัทฯ ได้กู้ยืมเงินมา
          2. กรณีบริษัทฯ ไม่สามารถแยกแหล่งเงินทุนได้ว่ามาจากแหล่งเงินทุนหมุนเวียนหรือแหล่งเงินทุนภายนอก บริษัทฯ ต้องคิดดอกเบี้ยกับบริษัทในเครือในอัตราไม่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในเวลาที่บริษัทฯ ได้กู้ยืมเงินมา
          อนึ่ง หากบริษัทฯ ให้บริษัทในเครือกู้ยืมเงิน โดยคิดดอกเบี้ยในอัตราต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควร เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินดอกเบี้ยตามราคาตลาดได้ตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้




: 76/38740



คำถาม :- ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ หรือไม่

ที่มา fanpages:- สุเทพ พงษ์พิทักษ์

ปล. สำนักงานบัญชีไม่มีความเกี่ยวข้องใดกับท่านอาจารย์ นำข้อมูลเพื่อใช้อ้างอิงเท่านั้นเพื่อประโยชน์ในการอ้างอิงให้เสียภาษีอย่างถูกต้อง โดยมีการอ้างอิงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

คุณ Aon Savitree (1 พฤษภาคม 2559 เวลา 12:44 น.)
ปุจฉา: เรียน อาจารย์สุเทพ
กรณีบริษัทฯ มีบัญชีลูกหนี้เงินยืมกรรมการ (เกิดจากเงินทุนจดทะเบียนบริษัทฯ ที่เก็บรักษาไว้โดยกรรมการ) ไม่ได้มีการคิดดอกเบี้ยในทางบัญชี (ไม่รับรู้ดอกเบี้ยเป็นรายได้ในงบการเงิน) แต่ได้ปรับปรุงเป็นดอกเบี้ยรับเพื่อเสียภาษีในแบบ ภ.ง.ด. 50 ...
คำถามคือ ดอกเบี้ยดังกล่าวต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ (ยื่น ภ.ธ.40) หรือไม่คะ
สุเทพ พงษ์พิทักษ์
วิสัชนา:
การนำเงินสดที่บริษัทฯ ได้จากการลงทุนของผู้ถือหุ้นไปเก็บรักษาไว้กับกรรมการ เท่ากับเป็นการให้กรรมการกู้ยืม อันเข้าลักษณะเป็นการให้กู้ยืมเงินโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ ตามมาตรา 91/2 (5) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ จึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ สำหรับรายรับค่าดอกเบี้ยที่บริษัทฯ ประเมินตนเองด้วย เพราะเข้าลักษณะเป็น “รายรับ” ที่บริษัทฯ พึงได้รับตามมาตรา 91/1 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนี้
“(1) “รายรับ” หมายความว่า เงิน ทรัพย์สิน ค่าตอบแทน หรือ ประโยชน์ใด ๆ อันมีมูลค่าที่ได้รับหรือพึงได้รับ ไม่ว่าในหรือนอกราชอาณาจักรอันเนื่องมาจากการประกอบกิจการ”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น