วันเสาร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2558

กู้เงินมาซื้อที่ดินเปล่าและที่ดินพร้อมอาคารแล้วให้เช่าทันที ดอกเบี้ยจ่ายที่เกิดขึ้นบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีหรือถือเป็นต้นทุนที่ดิน

สำนักงานบัญชีไม่มีความเกี่ยวข้องใดกับอาจารย์สุเทพ พงษ์พิทักษ์ทั้งสิ้น
เป็นการนำมาแสดงประกอบข้อกฏหมายอ้างอิง 
เพื่อใช้เป็นแนวปฏิบัติตามประมวลรัษฎากรโดยมีหลักกฎหมายอ้างอิงเท่านั้น

ที่มา Fanpages :- สุเทพ พงษ์พิทักษ์


คุณ Sai Nami (18 กันยายน 2558 เวลา 19:11 น. จากเทศบาลนครภูเก็ต)
ปุจฉา: 
กู้เงินมาซื้อที่ดินเปล่าและที่ดินพร้อมอาคารแล้วให้เช่าทันที ดอกเบี้ยจ่ายที่เกิดขึ้นบันทึกเป็นค่าดอกเบี้ยจ่าย เวลายื่นแบบ ภ.ง.ด.50 ได้กรอกเป็นรายจ่ายดอกเบี้ย บวกกลับเป็นรายจ่ายต้องห้าม แล้วกรอกช่องรายได้ที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ไม่เกินรายได้ของบริษัท ไม่ทราบว่าเข้าใจถูกต้องหรือเปล่า เพื่อความชัดเจนในเรื่องนี้และเป็นบรรทัดฐานในการทำงานให้ถูกต้องต่อไป และถ้าบางปีที่ดินเปล่าไม่มีคนเช่า ก็ยังปฏิบัติเหมือนข้างบนหรือเปล่า
ขอความกรุณาจากอาจารย์ช่วยอธิบายให้หนุเข้าใจแจ่มแจ้งหน่อยค่ะ
ขอบพระคุณล่วงหน้าค่ะ

สุเทพ พงษ์พิทักษ์
วิสัชนา:
เกี่ยวกับกรณีกิจการกู้เงินมาซื้อที่ดินเปล่าและที่ดินพร้อมอาคารแล้วให้เช่าทันที นั้น อธิบดีกรมสรรพากรโดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 375) พ.ศ. 2543 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 92) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับดอกเบี้ย เงินกู้ยืมเพื่อซื้อหรือให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ลงวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2544 ดังนี้

“ข้อ 1 ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อหรือให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินต้องเป็นดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นโดยตรงเนื่องจากการดำเนินธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพ หรือเกี่ยวเนื่องโดยตรงต่อทรัพย์สินที่ก่อให้เกิดรายได้
ข้อ 2 ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อหรือให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินเกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีใด ให้ปฏิบัติดังนี้
(1) ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ทรัพย์สินนั้นอยู่ในสภาพพร้อมที่จะใช้ได้ตามประสงค์ให้ถือเป็นต้นทุนของทรัพย์สินหรือรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน
(2) ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ทรัพย์สินนั้นอยู่ในสภาพพร้อมที่จะใช้ได้ตามประสงค์ให้ได้รับสิทธิยกเว้นภาษี
กรณีที่เงินกู้มานั้นได้นำไปใช้เพื่อซื้อหรือให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินหรือใช้ใน กิจการอื่น ๆ รวมกัน ในการคำนวณตาม (1) และหรือ (2) ให้นำดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเฉพาะในส่วนที่ เกี่ยวกับการซื้อหรือให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินมาคำนวณเท่านั้น
ข้อ 3 เมื่อได้ปฏิบัติตามข้อ 2 (2) แล้ว บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจะต้องไม่นำดอกเบี้ยเงินกู้ยืมดังกล่าวไปรวมคำนวณเป็นต้นทุนของทรัพย์สินหรือรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน หรือไปหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลอีก”

ดังนั้น ดอกเบี้ยจ่ายที่เกิดขึ้นกิจการบันทึกเป็นค่าดอกเบี้ยจ่ายในการดำเนินงานได้ทั้งจำนวน เพราะทั้งที่ดินเปล่า และหรือที่ดินพร้อมอาคารเป็นทรัพย์สินที่พร้อมใช้งานแล้ว เมี่อกิจการยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 กรมสรรพากรได้มีข้อชี้แจงการปฏิบัติตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 375) พ.ศ. 2543 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 92) ว่า กิจการไม่ต้องปรับปรุงรายการใดๆ ทั้งสิ้น เพราะข้อกำหนดดังกล่าวไม่มีผลทำให้กำไรสุทธิทางบัญชีกับกำไรสุทธิทางภาษี (Bottom Line) แตกต่างกัน และได้กำชับให้เจ้าพนักงานสรรพากรอย่าได้ไปยุ่งเกี่ยว แนะนำให้กิจการทำการปรับปรุงรายการดังกล่าว เนื่องจาก

1. ในทางภาษีอากรอากรไม่มีข้อกำหนดให้นำดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ทรัพย์สินนั้นอยู่ในสภาพพร้อมที่จะใช้ได้ตามประสงค์ ไปถือเป็น “รายจ่าย”

2. หากแต่ตามพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในมาตรา 3 แห่งประมวลรัษฎากร นั้น มีข้อกำหนดให้ยกเว้นหรือลดอัตราภาษีเท่านั้น จึงต้องเลี่ยงใช้คำว่า “ได้รับสิทธิยกเว้นภาษี”

3. การย้ำในข้อ 3 ของประกาศฯ (ฉบับที่ 92) เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนทางภาษีอากรเท่านั้น ไม่มีนัยใดๆ แฝงไว้แต่อย่างใด



พระราชกฤษฎีกา
ออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 375)
พ.ศ. 2543
--------------------------
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543
เป็นปีที่ 55 ในรัชกาลปัจจุบัน

                      พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า

                      โดยที่เป็นการสมควรยกเว้นภาษี เงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วน นิติบุคคล บางกรณี

                      อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 221 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 3(1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราช บัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวล-รัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ดังต่อไปนี้

                      มาตรา 1  พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า "พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 375) พ.ศ. 2543"

                      มาตรา 2  พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับสำหรับรอบ ระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2543 เป็นต้นไป

                      มาตรา 3  ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้น ส่วนนิติบุคคลเป็นจำนวนเท่ากับดอกเบี้ยเงิน กู้ยืมเพื่อซื้อหรือให้ได้มาซึ่งทรัพย์สิน ทั้งนี้ เฉพาะดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นตั้งแต่วัน ที่ทรัพย์สินดังกล่าวอยู่ในสภาพพร้อมที่จะใช้ได้ตามประสงค์

                      ดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นตามวรรคหนึ่งให้เป็น ไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด โดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

                      มาตรา 4  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระ ราชกฤษฎีกานี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ชวน หลีกภัย
นายกรัฐมนตรี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น