วันจันทร์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2559

หากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลไม่ได้ดำเนินการจดทะเบียนเลิกและชำระบัญชีที่กรมพัฒนาธุรกิจให้เสร็จสิ้น แต่ปล่อยให้เป็นกิจการร้างและรอกรมพัฒนาธุรกิจขีดชื่อออกจากระบบ จะมีผลกระทบต่อนิติบุคคล กรรมการ หุ้นส่วนในปีต่อไป อย่างไร


ที่มา Fanpages :- สุเทพ พงษ์พิทักษ์
คำเตือน:- ท่านอาจารย์สุเทพ พงษ์พิทักษ์ ไม่มีความเกี่ยวข้องใดกับกิจการ เนื้อหาที่นำมาเผยแพร่เป็นแหล่งความรู้ เพื่อใช้อ้างอิง ประกอบเท่านั้น โปรดอ้างอิงกฎหมายที่เกี่ยวข้องในข้อความ

คุณ Happy Mango (21 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา 19:34 น.)
ปุจฉา: เรียน อ.สุเทพ ที่เคารพ
กรณี บริษัทร้าง-เลิกดำเนินกิจการ แต่มิได้ดำเนินการจดทะเบียนเลิกและชำระบัญชีที่กรมพัฒนาธุรกิจให้เสร็จสิ้น
บริษัทจดทะเบียนในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม และได้เลิกดำเนินกิจการในระหว่างปี 2558 ณ วันสิ้นปี 2558 บริษัท ไม่มีทรัพย์สินใดๆ คงเหลือในบัญชี แต่มีเจ้าหนี้กรรมการ 50 ล้านบาท ทุน 1 ล้านบาท และขาดทุนเกินทุน 49 ล้านบาท ซึ่งทางบริษัทฯ ได้ปิดบัญชีและยื่นแบบภาษีเงินได้ (ภ.ง.ด.50) ปี 2558 เรียบร้อยแล้ว
ขอเรียนสอบถามว่า หากกรรมการและผู้ถือหุ้นไม่ได้ดำเนินการจดทะเบียนเลิกและชำระบัญชีที่กรมพัฒนาธุรกิจให้เสร็จสิ้นในปี 2559 แต่ปล่อยให้เป็นกิจการร้างและรอกรมพัฒนาธุรกิจขีดชื่อออกจากระบบ จะมีผลกระทบทางภาษีในปี 2559 เป็นต้นไปอย่างไรบ้างคะ
ขอบพระคุณค่ะ

สุเทพ พงษ์พิทักษ์

วิสัชนา:
หากกรรมการและผู้ถือหุ้นไม่ได้ดำเนินการจดทะเบียนเลิกและชำระบัญชีที่กรมพัฒนาธุรกิจให้เสร็จสิ้นในปี 2559 แต่ปล่อยให้เป็นกิจการร้างและรอกรมพัฒนาธุรกิจขีดชื่อออกจากระบบ จะมีผลกระทบทางภาษีในปี 2559 เป็นต้นไป ดังนี้
1. เนื่องจากบริษัทฯ มิได้ประกอบกิจการที่มีรายได้และไม่มีรายจ่ายใดๆ แล้ว จึงไม่มีภาระภาษีอากรที่ต้องเสียหรือนำส่งตามประมวลรัษฎากร
2. หากบริษัทฯ ไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท รวมสองครั้งต่อรอบระยะเวลาบัญชี 4,000 บาท
3. กรมพัฒนาธุรกิจการค้าถอนทะเบียนบริษัทร้าง ตามหลักเกณฑ์การถอนทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัทร้างดังนี้
ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด และบริษัทจำกัด เป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนจัดตั้งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท ทุกรายมีหน้าที่ต้องจัดทำงบการเงินประจำปียื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อแสดงฐานะทางการเงินและผลการดำเนินกิจการในรอบปีที่ผ่านมา ในปัจจุบันมีห้างหุ้นส่วนและบริษัทจำนวนหนึ่งที่จัดตั้งขึ้นแล้ว ต่อมาไม่ได้ทำการค้าขายหรือประกอบการงานใด ๆ แต่ไม่ได้ยื่นงบการเงินประจำปีต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า หรือบางรายจดทะเบียนเลิกแล้วแต่ไม่ยื่นรายงานการชำระบัญชีต่อนายทะเบียนหรือจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีให้เสร็จสิ้น ชื่อของห้างหุ้นส่วนและบริษัทก็ยังคงอยู่ในทะเบียน มีสถานะเป็นนิติบุคคลอยู่และทำให้ฐานข้อมูลนิติบุคคลไม่ถูก ต้องตามความเป็นจริง ซึ่งจะทำให้ไม่มีผู้ใดทราบสภาพอันแท้จริงของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นว่าไม่ได้ประกอบกิจการค้าแล้ว อาจทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจผิดและก่อให้เกิดความเสียหาย เนื่องจากการทุจริตหลอกหลวงสภาพอันแท้จริงของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทก็ได้ กฎหมายจึงให้นายทะเบียนมีอำนาจถอนทะเบียนห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่ทิ้งร้างหรือเลิกไปแล้วและไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายดังกล่าว
3.1 มูลเหตุที่ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทจำกัดจะถูกถอนทะเบียนร้าง
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในฐานะสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลางจึงอาศัยอำนาจตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ดำเนินการถอนทะเบียนห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทจำกัดที่เข้าข่ายตามข้อสันนิษฐานว่าห้างหุ้นส่วนและบริษัทมิได้ทำการค้าหรือประกอบการงานหรือจดทะเบียนเลิกห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทแล้วแต่ไม่มีตัวผู้ชำระบัญชีทำการอยู่
3.2 ข้อสันนิษฐานว่ามิได้ทำการค้าหรือประกอบการงานหรือจดทะเบียนเลิกแล้วแต่ไม่มีตัวผู้ชำระบัญชีทำการอยู่
(1) ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทใดมิได้ส่งงบการเงินนับแต่ปีปัจจุบันย้อนหลัง 3 ปีติดต่อกัน
(2) ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่จดทะเบียนเลิกแล้ว และอยู่ระหว่างชำระบัญชี แต่ผู้ชำระบัญชีมิได้ทำรายงานการชำระบัญชีหรือมิได้ยื่นจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีให้เสร็จสิ้นภายใน 3 ปี นับแต่วันรับจดทะเบียนเลิก และนายทะเบียนได้มีหนังสือส่งทางไปรษณีย์ตอบรับไปยัง ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทและผู้ชำระบัญชีแจ้งให้ดำเนินการเพื่อให้มีตัวผู้ชำระบัญชี หรือยื่นรายงานการชำระบัญชี หรือจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ส่งหนังสือแล้ว แต่ผู้ชำระบัญชีมิได้ปฏิบัติตาม
3.3 ผลของการถอนทะเบียนร้าง
(1) ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทสิ้นสภาพนิติบุคคล
(2) ความรับผิดของหุ้นส่วนผู้จัดการ ผู้เป็นหุ้นส่วน กรรมการ ผู้จัดการ และผู้ถือหุ้นมีอยู่ เท่าไรก็ให้คงมีอยู่อย่างนั้นและพึงเรียกบังคับได้เสมือนห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นยังมิได้สิ้นสภาพนิติบุคคล
(3) ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทอาจฟื้นคืนเข้าสู่ทะเบียนได้ถ้าห้างหุ้นส่วน ผู้เป็นหุ้นส่วน บริษัท ผู้ถือหุ้นหรือเจ้าหนี้ใด ๆ ของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นยื่น คำร้องต่อศาลเพราะรู้สึกว่าต้องเสียหายโดยไม่เป็นธรรมจากการถูกขีดชื่อออกจากทะเบียน หากศาลพิจารณาเห็นว่าในขณะที่ขีดชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทออกจากทะเบียน ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทยังทำการค้าขายหรือยังประกอบการงานอยู่ หรือเป็นการยุติธรรมในการที่จะให้ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทได้กลับคืนสู่ทะเบียน ศาลจะสั่งให้จดชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทกลับคืนเข้าสู่ทะเบียนก็ได้ แต่ห้ามมิให้ร้องขอเมื่อพ้นกำหนด 10 ปีนับแต่วันที่นายทะเบียนขีดชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทออกจากทะเบียน
ที่มา: http://goo.gl/YIzhMA
4. เมื่อถูกถอนทะเบียนร้าง ซึ่งเป็นอันสิ้นสภาพนิติบุคคล ก็หมดหน้าที่ในทางภาษีอากรโดยปริยาย เว้นแต่มีภาระภาษีอากรค้าง กรมสรรพากรอาจขอให้ศาลสั่งให้ฟื้นคืนเข้าสู่ทะเบียนได้

ข้อมูลเพิ่มเติมจากผู้เขียน BLOG

แต่กรณีท่านเป็นบุคคลผู้มีฐานะและสภาพอันพึงสมควรชำระบัญชีให้ถูกต้องพึงระวัง ในกรณีกรมสรรพากรฟื้นกิจการที่ร้างมาดำเนินการให้ท่านชำระภาษีให้ถูกต้องต่อไปตามบทความข้างล่างครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น