วันจันทร์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

บริษัทนำเข้าสินค้าต่างประเทศเข้าเขตอุตสาหกรรมส่งออก( EPZ) ยกเว้นอากรขาเข้าเพื่อขายให้บริษัทที่ได้รับ BOI ยกเว้นอากรขาเข้า

เลขที่หนังสือ: กค 0706/พ./3080
วันที่: 29 มีนาคม 2547
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการนำเข้าสินค้า
ข้อกฎหมาย: มาตรา 81(2)(ค), มาตรา 81(2)(ง), มาตรา 77(1)(18)(ก)
ข้อหารือ: กรณีบริษัทฯ ประกอบกิจการส่งออกขนมปังกรอบ และเป็นผู้แทนจำหน่ายถ่านไฟฉายโตชิบาซึ่ง
นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น บริษัทฯ ได้เปิด L/C สั่งซื้อสินค้าจากประเทศญี่ปุ่นมาขายให้ลูกค้าซึ่งมี
สถานประกอบการอยู่ในอารักขาของศุลกากร หรือตั้งอยู่ในเขตอุตสาหกรรมส่งออก (EPZ) หรือได้รับ
การส่งเสริมการลงทุน (BOI) บริษัทฯ หารือว่า
1. กรณีบริษัทฯ ได้ดำเนินพิธีการทางศุลกากรนำเข้าสินค้าเอง บริษัทฯ จะได้รับ
การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ และเมื่อบริษัทฯ เรียกเก็บเงินค่าสินค้าจากลูกค้าเพื่อไปชำระค่าสินค้า
ตาม L/C บริษัทฯ จะต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากลูกค้าหรือไม่
2. กรณีลูกค้าเป็นผู้ดำเนินพิธีการทางศุลกากรนำเข้าสินค้าเอง ลูกค้าจะได้รับ
การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ และหากลูกค้าได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อบริษัทฯ
เรียกเก็บเงินเพื่อไปชำระค่าสินค้าตาม L/C บริษัทฯ จะต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากลูกค้าหรือไม่
3. กรณีบริษัทฯ สั่งซื้อสินค้าจากประเทศญี่ปุ่น และเป็นผู้ดำเนินพิธีการทางศุลกากรนำเข้า
สินค้าเอง แล้วส่งสินค้าไปยังสถานประกอบการของลูกค้าซึ่งเป็นโรงงานที่นำเข้าเพื่อผลิตแล้วส่งออก
และมิใช่โรงงานซึ่งอยู่ในอารักขาของศุลกากร หรืออยู่ในเขตอุตสาหกรรมส่งออก หรือได้รับการ
ส่งเสริมการลงทุน กรณีดังกล่าว บริษัทฯ สามารถขอคืนภาษีซื้อได้หรือไม่
แนววินิจฉัย: 1. กรณีบริษัทฯ ได้สั่งซื้อสินค้าจากประเทศญี่ปุ่นโดยเป็นผู้ดำเนินพิธีการทางศุลกากรนำเข้า
สินค้าด้วยตนเอง หากสินค้าที่บริษัทฯ นำเข้าดังกล่าวมิใช่สินค้าที่จำแนกประเภทไว้ในภาคว่าด้วยของที่ได้
รับยกเว้นอากรตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร ตามมาตรา 81(2)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร
บริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้นำเข้า มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยชำระภาษีมูลค่าเพิ่มต่อเจ้าพนักงานศุลกากร
พร้อมกับการชำระอากรขาเข้าตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร ตามมาตรา 83/8 แห่งประมวลรัษฎากร
และเมื่อบริษัทฯ เรียกเก็บเงินค่าสินค้าจากลูกค้าซึ่งเป็นผู้ซื้อสินค้า บริษัทฯ มีหน้าที่เรียกเก็บ
ภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อเมื่อความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น ตามมาตรา 78 แห่ง
ประมวลรัษฎากร
2. กรณีบริษัทฯ สั่งซื้อสินค้าจากประเทศญี่ปุ่น และตกลงโอนสินค้าให้ลูกค้าซึ่งมี
สถานประกอบการอยู่ในอารักขาของศุลกากร หรือตั้งอยู่ในเขตอุตสาหกรรมส่งออกตามกฎหมายว่าด้วย
การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (EPZ) หรือได้รับการส่งเสริมตามกฎหมายว่าด้วยการ
ส่งเสริมการลงทุน (BOI) เป็นผู้ดำเนินพิธีการทางศุลกากรนำเข้าสินค้าด้วยตนเอง ลูกค้าจะได้รับสิทธิ
ประโยชน์ในการนำเข้าสินค้าตามประมวลรัษฎากร ดังนี้
(1) กรณีลูกค้าได้ดำเนินพิธีการทางศุลกากรนำเข้าสินค้าและอยู่ในอารักขาของศุลกากร
แล้วได้ส่งกลับออกไปต่างประเทศ โดยได้คืนอากรขาเข้าตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร การนำเข้า
ดังกล่าวได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(2)(ง) แห่งประมวลรัษฎากร
(2) กรณีลูกค้าซึ่งมีสถานประกอบการตั้งอยู่ในเขตอุตสาหกรรมส่งออก ได้ดำเนินพิธีการ
ทางศุลกากร นำสินค้าจากต่างประเทศเข้าไปในเขตอุตสาหกรรมส่งออก หากสินค้านั้นได้รับยกเว้นอากร
ขาเข้าตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย การนำเข้าสินค้าดังกล่าวได้รับ
ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/1(21) และมาตรา 81(2)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร
(3) กรณีลูกค้าซึ่งได้รับการส่งเสริมการลงทุนได้ดำเนินพิธีการทางศุลกากรนำเข้าสินค้า
ด้วยตนเอง หากสินค้าดังกล่าวเป็นวัตถุดิบเพื่อใช้ในการผลิตเพื่อการส่งออกและได้รับอนุมัติให้ได้รับสิทธิ
ประโยชน์ตามโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุน ลูกค้าผู้นำเข้าจะได้รับสิทธิในการวางเงินประกัน
หลักประกัน หรือจัดให้มีผู้ค้ำประกัน เพื่อเป็นประกันภาษีมูลค่าเพิ่มแทนการชำระภาษีก็ได้ ทั้งนี้ ตาม
มาตรา 83/8 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร
3. กรณีลูกค้าผู้นำเข้าสินค้าได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตาม 2(1) และ 2(2) หรือได้
วางเงินประกัน หลักประกัน หรือจัดให้มีผู้ค้ำประกัน เพื่อเป็นประกันภาษีมูลค่าเพิ่มแทนการชำระภาษีตาม
2(3) กรณีดังกล่าว ถือได้ว่าลูกค้าซึ่งเป็นผู้นำเข้าไม่ได้ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มต่อเจ้าพนักงานศุลกากรตาม
มาตรา 83/8 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น ค่าตอบแทนจากการขายสินค้าดังกล่าว จึงไม่เข้า
ลักษณะเป็นค่าตอบแทนที่ไม่ต้องนำมารวมคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษีตามมาตรา 79(4) แห่ง
ประมวลรัษฎากร และข้อ 2(9) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 40)ฯ
ลงวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับ
ภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 80)ฯ ลงวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2541 เมื่อบริษัทฯ เรียกเก็บเงินค่าสินค้าจาก
ลูกค้า บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีในทันทีที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น โดย
เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 จากลูกค้า ทั้งนี้ ตามมาตรา 78(1) และมาตรา 80 แห่ง
ประมวลรัษฎากร
4. กรณีบริษัทฯ สั่งซื้อสินค้าจากประเทศญี่ปุ่น และได้ดำเนินพิธีการทางศุลกากรนำเข้าสินค้า
ด้วยตนเอง แล้วส่งสินค้าไปขายให้แก่โรงงานซึ่งเป็นโรงงานที่นำเข้าเพื่อผลิตและส่งออก ภาษีมูลค่าเพิ่ม
ที่บริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนและเป็นผู้นำเข้าได้เสียไปเมื่อตอนนำเข้าสินค้า ถือเป็นภาษีซื้อ
ตามมาตรา 77/1(18)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ มีสิทธินำภาษีซื้อดังกล่าวไปหักในการคำนวณ
ภาษีมูลค่าเพิ่มได้ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ ใบเสร็จรับเงินที่กรมศุลกากรออกให้ใน
การเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อตอนนำเข้าให้ถือเป็นใบกำกับภาษี ตามมาตรา 86/14 แห่ง
ประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 67/32883

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น