วันอังคารที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2559

เฉลี่ยภาษีซื้อเมื่อมีรายได้จากค่าเช่าและค่าบริการ ให้นำภาษีซื้อไปเฉลี่ยตามฐานรายได้ ภพ. 30 หรือว่าต้องเฉลี่ยภาษีซื้อตามฐานรายได้ ภงด.50

สำนักงานบัญชีไม่มีความสัมพันธ์ใดกับท่านอาจารย์สุเทพ พงษ์พิท้กษ์ แต่จัดทำบทความนี้เพื่อไว้อ้างอิงและเผยแพร่ประโยชน์กับสาธารณชน ความเชื่อถือในความเห็นของท่านอาจารย์และกฏหมายที่ท่านอาจารย์ได้อ้างอิงไว้เป็นหลักฐาน ครับ

ที่มา Fan Pages :-สุเทพ พงษ์พิทักษ์
คุณทราย
ปุจฉา: 

เรื่องการเฉลี่ยภาษีซื้อเมื่อมีรายได้จากเงินมัดจำค่าเช่าและค่าบริการ ตามที่ปรึกษาอาจารย์ คือให้นำภาษีซื้อไปเฉลี่ยตามฐานรายได้ ภพ. 30 แต่สรรพากรพื้นที่แจ้งว่า ต้องเฉลี่ยภาษีซื้อตามฐานรายได้ ภงด.50 จึงขอสอบถามอาจารย์เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวคะ และมีข้อกฎหมายใดเพื่อมาอ้างอิงได้บ้างคะ
ขอบพระคุณท่านอาจารย์อย่างสูงคะ

สุเทพ พงษ์พิทักษ์

วิสัชนา:

การเฉลี่ยภาษีซื้อเมื่อมีรายได้จากเงินมัดจำค่าเช่าและค่าบริการ ตามที่ได้แนะนำให้ฉลี่ยภาษีซื้อตามฐานรายได้ แบบ ภ.พ. 30 จำนวน 12 เดือนภาษี แต่สรรพากรพื้นที่แจ้งว่า ต้องเฉลี่ยภาษีซื้อตามฐานรายได้ ภงด.50 นั้น

ขอเรียนว่า กฎหมายภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นไปตามหมวด 4 ภาษีมูลค่าเพิ่ม ตั้งแต่มาตรา 77 ถึงมาตรา 90/5 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร เป็นคนละกฎหมายกับภาษีเงินได้นิติบุคคลตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งหากไม่มีบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร กฎหมายทั้งสองฉบับจะเป็น พระราชบัญญัติที่แยกกันโดยเด็ดขาด และเห็นได้โดยชัดแจ้ง ว่า ไม่มีความสัมพันธ์หรือเกี่ยวข้องในเชิงที่จะต้องนำรายได้ของอีกกฎหมายหนึ่งไปใชักับอีกกฎหมายหนึ่ง แต่เพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีอากรจากราษฎร จึงได้มีการตราประมวลรัษฎากร ขึ้น เป็นหมวดๆ แต่ละหมวดก็ยังคงแยกกันบังคับใช้โดยเด็ดขาด


การที่จะใช้รายได้ตามแบบ ภ.ง.ด.50 เป็นฐานในการเฉลี่ยรายได้นั้น 
ประการที่ 1 ไม่มีข้อกฎหมายใดกำหนดให้ต้องถือปฏิบัติเช่นนั้น ยกเว้นในปี 2535 ที่ยังไม่เคยมีรายได้ในระบยภาษีมูลค่าเพิ่มมาก่อน อธิบดิกรมสรรพากร จึงอนุโลมให้ใช้รายได้ตามแบบ ภ.ง.ด.50 ของรอบระยะเวลาบัญชีปี 2534 เป็นฐานในการเฉลี่ยภาษีซื้อของปี 2535 แต่ครั้นมีฐานภาษีมูลค่าเพิ่มเองแล้ว ก็ย่อมไม่พึงต้องใช้รายได้ตามแบบ ภ.ง.ด.50 เป็นฐานในการเฉลี่ยภาษีซื้ออีกต่อไป เพราะเป็นคนละกฎหมาย


ประการที่ 2 ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29) ข้อ 4 ได้กำหนดฐานรายได้ที่จะใช้ในการเฉลี่ยภาษีซื้อไว้ชัดเจนแล้ว ดังนี้ 

"ข้อ 4 รายได้ตามข้อ 2 และข้อ 3 หมายความว่า

(1) รายได้ของกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หมายความว่า มูลค่าของฐานภาษีของกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ...

(2) รายได้ของกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หมายความว่า มูลค่าของฐานภาษีของกิจการประเภทที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม รายรับของกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ และรายรับของกิจการประเภทที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ ...
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม(ฉบับที่ 67) ใช้บังคับ 1 มกราคม 2535 เป็นต้นไป)
“รายได้ตามวรรคหนึ่งไม่รวมถึง

(ก) รายได้ที่เกิดขึ้นจากกรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนนำเงินไปหาประโยชน์โดยการฝากธนาคาร ซื้อพันธบัตรหรือหลักทรัพย์ หรือซื้อตั๋วเงินของสถาบันการเงินอื่น แต่ทั้งนี้ไม่ใช้บังคับสำหรับการประกอบกิจการตามมาตรา 91/2(1)(2) และ (3) แห่งประมวลรัษฎากร

(ข) รายได้ดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นจากกรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนมีการกู้ยืมเงินกันเองในระหว่างบริษัทในเครือเดียวกัน
คำว่า "บริษัทในเครือเดียวกัน" หมายความว่า บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตั้งแต่สองนิติบุคคลขึ้นไปซึ่งมีความสัมพันธ์กันโดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใดถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนอยู่ในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอีกแห่งหนึ่งไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียงในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น เป็นเวลาไม่น้อยกว่าหกเดือนก่อนวันที่มีการกู้ยืม

(ค) รายได้ดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นจากกรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีระเบียบเกี่ยวกับเงินกองทุนสะสมพนักงานหรือทุนอื่นใดเพื่อพนักงาน และบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้นำเงินกองทุนนี้ออกให้พนักงานที่เป็นสมาชิกกู้ยืมเป็นสวัสดิการ

(ง) รายได้ที่เกิดขึ้นจากกรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนมีการประกอบกิจการประเภทที่ไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม(ฉบับที่ 153) ใช้บังคับ 1 มกราคม 2546 เป็นต้นไป)


ดังจะเห็นได้ว่าตามข้อ 4 (1) กำหนดให้ใช้ "มูลค่าของฐานภาษีของกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม" ด้งนี้ 

"(1) รายได้ของกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หมายความว่า มูลค่าของฐานภาษีของกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม" 
จึงเป็นที่ชัดแจ้งแล้วว่า ต้องใช้มูลค่าของฐานภาษีตามแบบ ภ.พ.30 เท่านั้น เพราะในแบบ ภ.ง.ด.50 ไม่ปรากฏว่ามี "มูลค่าของฐานภาษีของกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม" ให้เห็นแต่อย่างใด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น