วันจันทร์ที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2558

ภาษีคณะบุคคล โดย ครูสุเทพ พงษ์พิทักษ์

ที่มา Fanpages :- ครูสุเทพ พงษ์พิทักษ์
ย้ำกันอีกครั้งว่า มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร เกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ตั้งแต่วันขึ้นปีใหม่ 2558 หรือวันที่ 1 มกราคม ที่ผ่านมา ดังนี้

1. การกำหนดนิยามศัพท์คำว่า “คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล” ในมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร โดยให้หมายความว่า “บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปตกลงกระทำการร่วมกัน อันมิใช่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ” เพื่อแยกแยะการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของการกระทำกิจการร่วมกันของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปที่เคยเหมือกันของ “คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล” และ “ห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล” ออกต่างหากจากกันโดยเด็ดขาด ดังนั้น แม้จะได้ชื่อว่า “คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล” หากมีวัตถุประสงค์ที่จะแบ่งปันผลกำไรอันเกิดจากการประกอบกิจการร่วมกัน ก็ย่อมถือเป็น “ห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล” 
2. หากประกอบกิจการในรูปของ “ห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล” ต้องเป็นกรณีที่มีวัตถุประสงค์ที่จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทำนั้น แต่หากประกอบกิจการในรูปของ “คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล” ต้องต้องเป็นกรณีที่มีวัตถุประสงค์ที่จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทำนั้น
3. นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 ไม่ว่าจะใช้ชื่อว่า “ห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล” หรือจะได้ชื่อว่า “คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล” ก็ตามหากมีวัตถุประสงค์ที่จะแบ่งปันผลกำไรอันเกิดจากการประกอบกิจการร่วมกัน ก็ย่อมต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในฐานะ “ห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล” ในชั้นที่หนึ่งก่อน และเมื่อมีการแบ่งปันผลกำไรอันเกิดจากการประกอบกิจการดังกล่าว เมื่อใด ผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนที่มิใช่นิติบุคคลนั้น ต้องนำเงินส่วนแบ่งของกำไรดังกล่าวไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอีกครั้งหนึ่ง เพราะได้ยกเลิกการยกเว้นเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้จากห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลตามมาตรา 42 (14) แห่งประมวลรัษฎากรแล้วตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 ดังกล่าว
4. สมมติ ในปี พ.ศ. 2557 ห้างหุ้นส่วนสามัญ ก. ข. มีเงินได้พึงประเมินจากประกอบโรคศิลปะ จำนวน 2,000,000 บาท ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากำหนดให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ร้อยละ 60 ของเงินได้ แล้วหักลดหย่อนส่วนตัวหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนคนละ 30,000 บาท คงเหลือเงินได้สุทธิ 740,000 บาท สำหรับเงินได้สุทธิจำนวน 150,000 บาท แรกได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ คิดเป็นภาษีเงินได้ที่ต้องชำระจำนวน 63,500 บาท
5. ในที่นี้ กำหนดให้ห้างหุ้นส่วนสามัญดังกล่าว ไม่มีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงมาหักเลย จำนวนกำไรสะสมคงเหลือที่ต้องแสดงใน “รายงานบัญชีรับ – จ่ายของห้างหุ้นส่วนสามัญและคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล” ยื่นพร้อมกับแบบ ภ.ง.ด.90 สำหรับปีภาษี 2557 ที่ต้องยื่นภายในเดือนมีนาคม 2558 คือ 2,000,000 บาท เท่าที่ได้รับ เพราะการหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาเป็นหลักเกณฑ์เพื่อการคำนวณภาษีเงินได้เท่านั้น มิใช่ค่าใช้จ่ายจริง ดังนั้น หากต่อมาในปี พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป ห้างหุ้นส่วนได้นำจำนวนกำไรดังกล่าวมาแบ่งปันกัน เช่น คนละ (2,000,000 - 63,500)/2 = 963,150 บาท
6. ผู้เป็นหุ้นส่วนแต่ละคนต้องนำเงินได้พึงประเมินที่เป็นเงินส่วนแบ่งของกำไร ซึ่งถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร ไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้อีกครั้งหนึ่ง
กรณีดังกล่าว นับว่าเป็นความซ้ำซ้อนอย่างยิ่งหากไม่หาแนวทางแก้ไขปํญหานี้ เช่น ให้ทุกอย่างที่กระทำในนามของห้างหุ้นส่วนสามัญจดเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในปี 2557 และไม่กระทำกิจการในนามของห้างฯ อีกต่อไป เป็นต้น


 อ้างอิง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
บรรพ ๓ ลักษณะ ๒๒
หุ้นส่วนและบริษัท
ส่วนที่ ๑
มาตรา ๑๐๑๒ อันว่าสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกัน ด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทำนั้น
มาตรา ๑๐๑๓ อันห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้น ท่านกำหนดเป็นสามประเภท คือ

(๑) ห้างหุ้นส่วนสามัญ
(๒) ห้างหุ้นส่วนจำกัด
(๓) บริษัทจำกัด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น