วันศุกร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ตั้งแต่ 4 เมย 2558 สัญญาเช่าที่ดิน สิ่งปลูกสร้างอื่น และสัญญารับจ้างทำของที่มีมูลค่าตั้งแต่ 1 ล้านบาท จะต้องชำระอากรเป็นตัวเงินเท่านั้น


ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ ๕๔)
เรื่อง กำหนดวิธีการชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์อากรสำหรับตราสารบางลักษณะ 
-------------------------------
                อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๑ และมาตรา ๑๐๓ (๓) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๔๙๖ และมาตรา ๑๒๓ ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๔๙๗ อธิบดีกรมสรรพากรโดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประกาศดังต่อไปนี้
                ข้อ ๑ ให้ยกเลิกความใน (๑) ของข้อ ๒ ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ ๓๗) เรื่อง กำหนดวิธีการชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์อากรสำหรับตราสารบางลักษณะ ลงวันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
                        “(๑) เช่าที่ดิน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น หรือแพ ตามลักษณะแห่งตราสาร ๑. แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ดังต่อไปนี้
                                (ก) มีค่าเช่าตั้งแต่ ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาทขึ้นไป
                                (ข) รัฐบาล องค์การของรัฐบาล เทศบาล สุขาภิบาล หรือองค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นเป็นผู้เช่า หรือ
                                (ค) ต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน”
                ข้อ ๒ ให้ยกเลิกความใน (๓) ของข้อ ๒ ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ ๓๗) เรื่อง กำหนดวิธีการชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์อากรสำหรับตราสารบางลักษณะ ลงวันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
                        จ้างทำของ ตามลักษณะแห่งตราสาร ๔. แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ดังต่อไปนี้
                                (ก) มีสินจ้างตั้งแต่ ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาทขึ้นไป หรือ
                                (ข) รัฐบาล องค์การของรัฐบาล เทศบาล สุขาภิบาล หรือองค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ว่าจ้างและมีสินจ้างตั้งแต่ ๒๐๐,๐๐๐ บาทขึ้นไป”
                ข้อ ๓ ให้ยกเลิกความใน (ก) ของ (๑) ของข้อ ๓ ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับ อากรแสตมป์ (ฉบับที่ ๓๗) เรื่อง กำหนดวิธีการชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์อากรสำหรับ ตราสารบางลักษณะ ลงวันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
                        “(ก) กรณีเช่าที่ดิน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นหรือแพ ตามลักษณะแห่งตราสาร ๑. แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ มีค่าเช่าตั้งแต่ ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาทขึ้นไป หรือรัฐบาล องค์การของรัฐบาล เทศบาล สุขาภิบาล หรือองค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นเป็นผู้เช่า ให้ผู้ให้เช่าชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่อากรแสตมป์ โดยต้องนำตราสารมาสลักหลังตามระเบียบของกรมสรรพากรก่อนกระทำตราสาร หรือภายใน ๑๕ วันนับแต่วันถัดจากวันกระทำตราสารนั้น”

                ข้อ ๔ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่เมื่อพ้นหกสิบวันนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๗

ประสงค์ พูนธเนศ
(นายประสงค์ พูนธเนศ)
อธิบดีกรมสรรพากร
                           (ร.จ. ฉบับประกาศและงานทั่วไป เล่ม ๑๓๒ ตอนพิเศษ ๒๘ ง วันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘)



ที่มา Fanpages :-  สุเทพ พงษ์พิทักษ์

คุณ Apiwat RPP (19 กุมภาพันธ์ เวลา 11:28 น.)

ปุจฉา: อาจารย์ครับ ถามเรื่อง อากรแสตมป์ของสัญญาจ้างทำของที่ชำระเป็นตัวเงิน ตามประกาศอธิบดีฯ กรณีทำสัญญาจ้างทำของย้อนหลัง เช่น ทำสัญญาลงวันที่ 19 ก.พ. 2559 แต่เนื้อในสัญญานี้มีผลใช้บังคับ 1 ม.ค. 2559 - 31 ธ.ค. 2559 การชำระอากรแสตมป์จะยึดวันใด ก.พ. หรือ ม.ค. ครับ
ผมอ่านประกาศอธิบดี ฉ.54 บัญญัติว่า "ภายใน 15 วันนับแต่วันถัดจากวันกระทำตราสารนั้น" ผมตีความว่าคือวันที่ทำสัญญา คือ 19 ก.พ. 2559 ครับ อยากทราบว่าแนวทางการตีความของผมถูกต้องไหมครับ
ขอบคุณครับ หวังว่าคำตอบของอาจารย์จะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆในเพจด้วย

สุเทพ พงษ์พิทักษ์
วิสัชนา: 
ตามมาตรา 103 แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดนิยามศัพท์คำว่า “กระทำ” ตราสาร ไว้ดังนี้ 
"กระทำ" เมื่อใช้เกี่ยวกับตราสาร หมายความว่า การลงลายมือชื่อตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ดังนั้น แนวทางการตีความของ คุณ Apiwat RPP จึงถูกต้องแล้วครับ ที่ถือว่าวันที่กระทำตราสาร คือ 19 ก.พ. 2559

ปล. กระผมขอขอบคุณอาจารย์ในการนำสอนต่อสาธารณะชนเท่านั้น อาจารย์ไม่มีความเกี่ยวข้องใดกับกิจการ ทางสำนักงานบัญชีเห็นว่ามีประโยชน์จึงนำเผยแพร่เท่านั้น นะครับ


ที่มา Fanpages :- Tax Station

ตามประกาศอธิบดีสรรพากรเกี่ยวกับอากรแสตมป์ฉบับที่ 54 ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2557 กำหนดให้สัญญาเช่าที่ดิน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้างอื่นหรือแพสำหรับค่าเช่าตั้งแต่ 1,000,000 บาทขึ้นไป และสัญญาจ้างทำของที่มีสินจ้างตั้งแต่ 1,000,000 ขึ้นไป จะต้องชำระอากรเป็นตัวเงิน ซึ่งจะมีผลบังคับภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2558 หากผู้เสียอากรชำระอากรโดยการปิดแสตมป์อากรทับลงบนตราสารจึงถือว่าตราสารดังกล่าวมิได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์ ตามมาตรา 103 แห่งประมวลรัษฎากร ผู้เสียอากรมีหน้าที่ชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์อากรตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฉบับที่ 37 พ.ศ. 2538 แก้ไขเพิ่มเติมโดยฉบับที่ 54 พ.ศ. 2557
ผู้เสียอากรแสตมป์ต้องนำตราสารดังกล่าวไปชำระอากรเป็นตัวเงินพร้อมเงินเพิ่มแต่ผู้เสียอากรอาจขออนุมัติเสียเงินเพิ่มร้อยละ 1.5 ต่อเดือนตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ท.ป. 84/2542 และขอให้นำอากรแสตมป์ที่ชำระไปแล้วโดยการปิดแสตมป์ทับลงบนตราสารไปหักกลบกับอากรแสตมป์ที่ต้องชำระเป็นตั
วเงินได้ ตามแนวปฏิบัติของกรมสรรพากรที่ 0706/8162 ลงวันที่ 17 สิงหาคม 2550
อนึ่ง
สัญญาจ้างทำของ 1,000,000 บาท ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องชำระ เช่น สัญญาจ้างทำของ 950,000 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่ม 66,500 บาท รวมแล้วทั้งหมด 1,016,500 บาท กรณีนี้ไม่ต้องเสียอากรแสตมป์เนื่องจากสินจ้างไม่ถึง 1,000,000 บาทตามแนวปฏิบัติของกรมสรรพากรที่ 0702/830 ลงวันที่ 18 มีนาคม 2551

ที่มา Fanpages :- Tax Station

ปล. กระผมขอขอบคุณอาจารย์ในการนำสอนต่อสาธารณะชนเท่านั้น อาจารย์ไม่มีความเกี่ยวข้องใดกับกิจการ ทางสำนักงานบัญชีเห็นว่ามีประโยชน์จึงนำเผยแพร่เท่านั้น นะครับ

เลขที่หนังสือ: กค 0706/8162
วันที่: 17 สิงหาคม 2550
เรื่อง: อากรแสตมป์ กรณีขออนุมัตินำแสตมป์ที่ปิดทับลงบนตราสารไปหักกลบกับอากรที่ต้องชำระเป็นตัวเงิน
ข้อกฎหมาย: มาตรา 103 มาตรา 113 และมาตรา 114 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ        บริษัทฯทำสัญญาเป็นผู้รับจ้างดำเนินการสร้างและติดตั้งอุปกรณ์ระบบผลิตน้ำบริสุทธิ์ให้กับสำนักงาน ข. บริษัทฯ ได้นำแสตมป์อากรมาปิดทับลงบนสัญญา โดยได้ซื้อแสตมป์อากรจากสำนักงานสรรพากรพื้นที่และมีเจ้าหน้าที่พัสดุของสำนักงานฯ เป็นผู้ขีดฆ่าแสตมป์อากรพร้อมลงลายมือชื่อกำกับในสัญญาดังกล่าว ต่อมาบริษัทฯ ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่พัสดุของสำนักงานฯ ว่า สัญญาดังกล่าวต้องชำระอากรแสตมป์เป็นตัวเงินโดยต้องชำระในจำนวนเท่ากับแสตมป์อากรที่ได้ปิดทับลงบนเอกสารสัญญา และต้องเสียค่าปรับอีกส่วนหนึ่งด้วย บริษัทฯ ได้สอบถามกับเจ้าหน้าที่พัสดุของสำนักงานฯ ว่า เหตุใดจึงไม่แจ้งให้บริษัทฯ ทราบก่อนที่จะชำระอากรแสตมป์โดยการปิดทับลงบนสัญญา เจ้าหน้าที่พัสดุของสำนักงานฯ แจ้งว่า ลืมข้อกำหนดเมื่อนึกขึ้นได้จึงได้รีบแจ้งให้บริษัทฯ ดำเนินการชำระอากรแสตมป์พร้อมด้วยค่าปรับให้ถูกต้อง ดังนั้น บริษัทฯ เห็นว่า เนื่องจากบริษัทฯ ไม่ทราบข้อกำหนดดังกล่าวประกอบกับเจ้าหน้าที่พัสดุของสำนักงานฯ ไม่ได้ชี้แจงแนวทางปฏิบัติให้ทราบ อีกทั้งบริษัทฯ ได้ชำระอากรแสตมป์โดยการปิดทับลงบนสัญญาแล้ว บริษัทฯ ไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีอากรแต่อย่างใด จึงขออนุมัตินำแสตมป์ที่ปิดทับลงบนตราสารไปหักกลบกับอากรที่ต้องชำระเป็นตัวเงิน
แนววินิจฉัย        เมื่อสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาจ้างทำของ ย่อมเข้าลักษณะตราสาร 4. แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ซึ่งเป็นตราสารที่กฎหมายกำหนดให้ชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์อากรตามข้อ 2(3) และ ข้อ 3(3) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 37) เรื่อง กำหนดวิธีการชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์อากรสำหรับตราสารบางลักษณะ ลงวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2538 การที่บริษัทฯ ชำระอากรโดยการปิดแสตมป์อากรทับลงบนตราสารจึงถือว่า ตราสารดังกล่าวยังมิได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์ ตามมาตรา 103 แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์อากรตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฉบับดังกล่าว และตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2542 เป็นต้นไป เมื่อบริษัทฯ นำตราสารดังกล่าวไปชำระอากรเป็นตัวเงินพร้อมกับเงินเพิ่มอากร ให้บริษัทฯ เสียเงินเพิ่มร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือน ของเงินอากรนับแต่วันที่ต้องชำระอากร ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.84/2542 เรื่อง หลักเกณฑ์การลดเงินเพิ่มอากร ตามมาตรา 113 และมาตรา 114 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 27 กันยายน พ.ศ.2542 แต่เพื่อความเป็นธรรม จึงให้บริษัทฯ นำอากรแสตมป์ที่บริษัทฯ ได้ชำระไว้แล้วโดยการปิดแสตมป์ทับลงบนตราสารไปหักกลบกับอากรแสตมป์ที่ต้องชำระเป็นตัวเงินได้
เลขตู้: 70/35233



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น