วันอังคารที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2558

ความเข้าใจเกี่ยวกับภาระภาษีกรณีเงินฝากร่วมกันของคณะบุุคคล หรือ สามีภรรยา

ที่มา Fanpages กรมสรรพากร วันที่ 30/3/2558

เรื่อง ความเข้าใจเกี่ยวกับภาระภาษีกรณีเงินฝากร่วมกัน
ตามที่กรมสรรพากรได้มีการแก้ไขกฎหมายโดยการตราพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 39) พ.ศ. 2557 ปรับปรุงการจัดเก็บภาษีเงินได้กรณีห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคล ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับแนวทางปฏิบัติจัดเก็บจากดอกเบี้ยของบัญชีเงินฝากร่วมกันที่ได้รับจากธนาคาร นั้น
กรมสรรพากรขอเรียนว่า


1. ตามข้อกฎหมายที่ได้กำหนดว่าห้างหุ้นส่วนสามัญให้หมายถึง บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกันด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้จากกิจการที่ทำนั้น และได้มีคำชี้แจงว่าการเข้าร่วมเปิดบัญชีธนาคาร เช่น เงินฝากบัญชีนางสาว ก และนางสาว ข ถือเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ ทำให้สมาคมธนาคารไทยมีความเข้าใจว่า การเปิดบัญชีเงินฝากร่วมกันทุกกรณีจะเข้าลักษณะเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ ซึ่งหากมีการแบ่งดอกเบี้ยที่ได้รับ ผู้รับจะต้องนำไปรวมคำนวณภาษีเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต่อไปอีกครั้งหนึ่ง โดยที่สมาคมธนาคารไทยได้มีหนังสือถึงธนาคารที่เป็นสมาชิกให้ชี้แจงทำความเข้าใจกับลูกค้าเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวนั้น

2. กรมสรรพากรขอเรียนชี้แจง ดังนี้

2.1 กรณีการฝากเงินที่เป็นบัญชีเงินฝากร่วมกัน โดยมีเจตนาที่จะเป็นการออมภายในครอบครัว เช่น พ่อและหรือแม่ฝากเงินเพื่อลูก ดอกเบี้ยที่ได้รับสามารถเลือกใช้สิทธิถูกหัก ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 15 โดยไม่ต้องนำมารวมคำนวณในแบบแสดงรายการภาษีในตอนปลายปี และดอกเบี้ยที่ลูกได้รับไม่ต้องนำมารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต่อไปอีกครั้งหนึ่ง

2.2 กรณีการฝากเงินที่เป็นบัญชีเงินฝากร่วมกันของสามีและภรรยา จะไม่เข้าลักษณะเป็นการเสียภาษีในรูปห้างหุ้นส่วนสามัญ ทั้งนี้ ดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นจะถือเป็นเงินได้ของสามีหรือภรรยาก็ได้ และสามารถเลือกใช้สิทธิถูกหัก ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 15 โดยไม่ต้องนำมารวมคำนวณในแบบแสดงรายการภาษีในตอนปลายปี และดอกเบี้ยที่ได้รับไม่ต้องนำมารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต่อไปอีกครั้งหนึ่งเช่นกัน

2.3 สำหรับกรณีการฝากเงินที่เป็นบัญชีเงินฝากร่วมกันในลักษณะอื่น ๆ เช่น นำเงินไปฝากร่วมกับบุคคลอื่น จะเข้าลักษณะเป็นการเสียภาษีในรูปห้างหุ้นส่วนสามัญ ทั้งนี้ ห้างหุ้นส่วนสามัญสามารถเลือกใช้สิทธิถูกหัก ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 15 โดยไม่ต้องนำมารวมคำนวณภาษีในแบบแสดงรายการภาษีในตอนปลายปี แต่เมื่อมีการแบ่งดอกเบี้ยที่ได้รับ หุ้นส่วนแต่ละคนจะต้องนำไปเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต่อไปอีก ครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ หากเป็นกรณีการแบ่งเงินต้นที่ฝากจะไม่ใช่เงินได้พึงประเมินที่ต้องนำไปเสียภาษีเงินได้

2.4 กรณีห้างหุ้นส่วนสามัญเลือกใช้สิทธิถูกหัก ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 15 และไม่นำมารวมคำนวณภาษีในแบบแสดงรายการภาษีในตอนปลายปี ห้างหุ้นส่วนสามัญนั้นไม่ต้องจัดทำบัญชีแสดงรายได้และรายจ่ายของห้างหุ้นส่วนสามัญ เพื่อยื่นต่อกรมสรรพากรแต่อย่างใด


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น