วันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

กรณีมีผลขาดทุนเกินทุน และมีหนี้สินค้างชำระกรรมการจำนวนมากจะถูกกรมสรรพากร ประเมินเป็นรายรับให้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลนะครับ

ที่มา Fanpaged :- สุเทพ พงษ์พิทักษ์

(ทาง Blog ไม่มีความเกี่ยวข้องใด กับทางอาจารย์สุเทพ พงษ์พิทักษ์ นะครับ)

คุณ Kannikar Kaewsawang (29 มิถุนายน 2558 เวลา 14:45 น.)
ปุจฉา: สวัสดีค่ะ อาจารย์สุเทพ
ขอรบกวนสอบถามเรื่องกรณีกิจการไม่ได้ประกอบกิจการเป็นเวลานาน ไม่มีรายได้ แต่ยังคงมีค่าใช้จ่ายในส่วนค่าทำบัญชีและค่าสอบบัญชี มีบัญชีขาดทุนสะสมอยู่ 25 ล้าน ทุนจดทะเบียน 3 ล้านบาท และมีบัญชีดอกเบี้ยค้างจ่ายเงินยืมจากกรรมการติดอยู่ 22 ล้านบาท เนื่องจากมีการจ่ายคืนแต่เฉพาะเงินต้นไปจนหมด กิจการจึงต้องการจดเลิกบริษัท เลยไปดำเนินการจดเลิกแวตก่อน ทางเจ้าหน้าที่สรรพากรจึงเข้ามาตรวจสอบและแจ้งว่าให้ล้างดอกเบี้ยค้างจ่ายไปเป็นรายได้อื่น และเสียภาษี 20% โดยปรับแบบ ภ.ง.ด.50 เข้าไป แต่กิจการไม่มีเงินเพียงพอในการจ่ายภาษี กรณีเช่นนี้ กิจการควรจะทำอย่างไรคะ
ขอบพระคุณอาจารย์มากค่ะ
สุเทพ พงษ์พิทักษ์
วิสัชนา:
กรณีตามข้อเท็จจริง เป็นกรณีที่บริษัทฯ อยู่ระหว่างการชำระบัญชี และไม่มีทรัพยิ์สินใดๆ ที่จะชำระคืนให้แก่เจ้าหนี้แล้ว ผู้ชำระบัญชีก็ไม่มีต้องรับผิดชอบใดๆ ที่จะหาเงินมาชำระค่าภาษีเงินได้ตามที่เจ้าพนักงานประเมินแนะนำได้ ก็ให้ผู้ชำระบัญชีชำระค่าภาษีเงินได้นิติบุคคลเพียงเท่าที่มี ส่วนที่เหลือไม่สามารถจะไปหาจากที่ใดมาชำระหนี้ จึงไม่อยู่ในความรับผิดของผู้ชำระบัญชี ทั้งนี้ ตามแนวคำพิพากษาฎีกาที่ 4638/2546 กรมสรรพากร โจทก์ บจ. เอ็มซารูอินเตอร์เนชั่นแนล กับพวก จำเลย เรื่อง ความรับผิดของผู้ชำระบัญชี
ขอได้โปรดศึกษาเพิ่มเติมจาก 
คําพิพากษาศาลฎีกาที่ 4638/2546 (กรมสรรพากร โจทก์ บริษัท อ. จำกัด ที่ 1 นาย ป. ที่ 2 จำเลย)
     ข้อเท็จจริง
     จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการซื้อขายเพชรพลอยทั้งเจียระไน เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2540 เจ้าพนักงานในสังกัดของโจทก์ได้ตรวจพบว่า จำเลยที่ 1 จำหน่ายสินค้ามูลค่า 1,884,585.89 บาท แล้วไม่ได้ลงบัญชีและเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม จำเลยที่ 1 จึงต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 131,921.01 บาท เบี้ยปรับตามมาตรา 89(4) แห่งประมวลรัษฎากร จำนวนหนึ่งเท่าของภาษีที่ต้องชำระ เบี้ยปรับตามมาตรา 89(10) แห่งประมวลรัษฎากร จำนวนสองเท่าของภาษีที่ต้องชำระและต้องเสียภาษีเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือนของภาษีที่ค้างชำระ จำเลยที่ 1 ตกลงชำระภาษีและเงินเพิ่มให้แก่โจทก์ก่อน ส่วนเบี้ยปรับจำเลยที่ 1 จะร้องขอ ต่ออธิบดีกรมสรรพากรให้งดหรือลดเบี้ยปรับ เจ้าพนักงานประเมินจึงมีหนังสือแจ้งการประเมินให้จำเลยที่ 1 ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มและเงินเพิ่ม โดยหมายเหตุไว้ด้วยว่าเบี้ยปรับอยู่ระหว่างการขอลดหรืองดตามกฎหมาย จำเลยที่ 1 ชำระค่าภาษีตามที่ถูกประเมินแล้ว
    ต่อมาเมื่ออธิบดีกรมสรรพากรสั่งลดเบี้ยปรับให้จำเลยที่ 1 บางส่วน เจ้าพนักงานประเมินจึงมีหนังสือแจ้งการประเมินไปยังจำเลยที่ 1 ให้ชำระเบี้ยปรับ 145,113 บาท จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือแจ้งการประเมินแล้วไม่ชำระค่าภาษี โจทก์จึงอายัดสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ตามบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาสีลม ซึ่งมีเงินฝากอยู่ 4,171.36 บาท ต่อมาธนาคารส่งเงินจำนวน ดังกล่าวให้แก่โจทก์ โจทก์จึงนำไปหักหนี้ค่าภาษีแล้วยังมีค่าภาษีค้างชำระ 140,941.64 บาท
     จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเลิกบริษัทเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2541 งบดุลของจำเลยที่ 1 ณ วันเลิกกิจการเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2541 จำเลยที่ 1 มีสินทรัพย์เพียงอย่างเดียวคือ เงินสด 7,820 บาท สำหรับหนี้สินและส่วนของผู้ถือหุ้น จำเลยที่ 1 เรียกให้ผู้ถือหุ้นชำระค่าหุ้นเต็มมูลค่าแล้วเป็นเงิน 2,000,000 บาท ขาดทุนสะสม 1,992,180 บาท รวมหนี้สินและส่วนของผู้ถือหุ้น 7,820 บาทตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 61 ส่วนงบกำไรขาดทุนของจำเลยที่ 1 สำหรับรอบบัญชีสุดท้ายตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2541 ถึงวันที่ 28 มิถุนายน 2541 ระบุว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีรายได้ สำหรับค่าใช้จ่ายมีเงินเดือนและค่าจ้าง 142,000 บาท ทรัพย์สินตัดจ่ายมี 2 รายการ คือลูกหนี้กรมสรรพากร 801,223 บาท ภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปี 3,000 บาท รวม 804,223 บาท ขาดทุนสุทธิ 946,223 บาท ขาดทุนสะสมยกมา 1,045,957 บาท ขาดทุนสะสมยกไป 1,992,180 บาท ตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 62
     จำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีวันที่ 20 สิงหาคม 2541 โดยมิได้ชำระค่าภาษีจำนวน 140,941.64 บาท แก่โจทก์ โจทก์ได้ทวงถามไปยังจำเลยที่ 1 ผ่านจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ชำระบัญชีหลายครั้ง แต่ไม่ได้รับชำระ โจทก์จึงฟ้องจำเลยทั้งสองให้ร่วมกันชำระหนี้ค่าภาษีอากรจำนวนดังกล่าว
     จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์เพิ่งนำคดีมาฟ้องหลังการจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีไปแล้วถึง 2 ปี จำเลยที่ 1 ไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคลในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้อง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ไม่ต้องร่วมรับผิดในหนี้ภาษีอากรตามฟ้อง เพราะมิได้มีกฎหมายบัญญัติให้ผู้ชำระบัญชีต้องร่วมรับผิดในหนี้สินของผู้ที่ตนเข้าไปเป็นผู้ชำระบัญชี
     ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ภาษีอากร ตามฟ้อง ยกฟ้องจำเลยที่ 2
    • โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกาขอให้พิพากษาแก้ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดชำระหนี้ภาษีอากรตามฟ้องด้วย
    ปัญหาข้อกฎหมาย
   จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ชำระบัญชีต้องร่วมรับผิดชำระหนี้ภาษีอากรของบริษัทที่ตนเป็นผู้ชำระบัญชีหรือไม่?
     คำวินิจฉัยศาลฎีกา
     ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า "กรณีนี้โจทก์แจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มไปยังจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2540 และวันที่ 19 มกราคม 2541 ก่อนจดทะเบียนเลิกบริษัท ซึ่งหน้าที่ของผู้ชำระบัญชีตามประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1270 บัญญัติให้ผู้ชำระบัญชีต้องทำรายงานการชำระบัญชีแสดงว่าการชำระบัญชีได้ดำเนินไปอย่างใด และได้จัดการทรัพย์สินของบริษัทไปประการใด เมื่อการชำระบัญชีกิจการของบริษัทสำเร็จลงแล้วให้เรียกประชุมใหญ่เพื่อเสนอรายงานนั้นและชี้แจงกิจการต่อที่ประชุม เมื่อที่ประชุมใหญ่ได้อนุมัติรายงานนั้นแล้ว ผู้ชำระบัญชีต้องนำข้อความที่ได้ประชุมนั้นไปจดทะเบียนภายในสิบสี่วันนับแต่วันประชุม เมื่อได้จดทะเบียนแล้ว ดังนี้ ให้ถือว่าเป็นที่สุดแห่งการชำระบัญชี ประกอบกับประมวลรัษฎากร มาตรา 72 บัญญัติว่า ในกรณีที่บริษัทเลิกกัน ให้ผู้ชำระบัญชีและผู้จัดการมีหน้าที่ร่วมกันแจ้งให้เจ้าพนักงานประเมินทราบการเลิกของบริษัทนั้นภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่เจ้าพนักงานรับจดทะเบียนเลิก นอกจากนี้ตามความในวรรคสองและวรรคสาม ก็บัญญัติให้ ผู้ชำระบัญชีและผู้จัดการมีหน้าที่และความรับผิดร่วมกันในการยื่นรายการและเสียภาษีตามแบบและภายในกำหนดเวลาที่กำหนดไว้ในมาตรา 68 และมาตรา 69 โดยอนุโลม ถ้าไม่สามารถยื่นรายการและเสียภาษีภายในกำหนดเวลาดังกล่าวได้และได้ยื่นคำร้องต่ออธิบดีกรมสรรพากรภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่เจ้าพนักงานรับจดทะเบียนเลิก เมื่ออธิบดีกรมสรรพากรพิจารณาเห็นสมควรจะสั่งให้ขยายระยะเวลาออกไปอีกก็ได้ เฉพาะกรณีที่มีการชำระบัญชี อธิบดีจะสั่งให้ขยายรอบระยะเวลาบัญชีออกไปอีกด้วยก็ได้ นอกจากนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1253 บัญญัติให้ผู้ชำระบัญชีบอกกล่าวแก่ประชาชนโดยประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่สองครั้งเป็นอย่างน้อย ว่าบริษัทได้ เลิกกันแล้ว และให้ผู้เป็นเจ้าหนี้ทั้งหลายยื่น คำทวงหนี้แก่ผู้ชำระบัญชีและส่งคำบอกกล่าวอย่างเดียวกันเป็นจดหมายลงทะเบียนไปรษณีย์ไปยังเจ้าหนี้ทั้งหลายทุกๆ คนบรรดามีชื่อปรากฏสมุดบัญชีหรือเอกสารของบริษัทนั้นภายใน สิบสี่วันนับแต่ได้เลิกบริษัท
    แต่ตามทางนำสืบของจำเลยที่ 2 หาปรากฏว่าได้มีการกระทำดังกล่าวไม่ ซึ่งหากจำเลยที่ 2 ได้กระทำหน้าที่ตามที่กฎหมายข้างต้นกำหนดไว้ ย่อมจะต้องทราบถึงหนี้ค่าภาษีอากรค้างของจำเลยที่ 1 แต่ถ้าหากไม่อาจทราบได้ก็ต้องนำสืบให้เห็นได้ว่าเป็นเพราะเหตุใด ซึ่งจำเลยที่ 2 ก็มิได้นำสืบให้เห็นเช่นนั้น และตามข้อเท็จจริงก็ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 จดทะเบียนเลิกบริษัทวันที่ 2 กรกฎาคม 2541 และจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีวันที่ 20 สิงหาคม 2541 ห่างกันเพียงเดือนเศษเท่านั้น ตามพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 นำสืบมา จึงมีพิรุธน่าสงสัยว่าไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ไปโดยสุจริตตามกฎหมายที่กล่าวมาข้างต้น
     ดังนั้นเมื่อชำระบัญชีแล้วจำเลยที่ 1 ยังมีเงินหรือทรัพย์สินอื่นเหลืออยู่ แต่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชี ซึ่งรู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้ค่าภาษีอากรโจทก์ แต่ไม่ได้จัดการใช้หนี้เงินให้แก่เจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1250 หรือวางเงินเท่าจำนวนหนี้นั้นตามบทแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยวางทรัพย์สินแทนชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้คนใดที่มิได้มาทวงถามให้ใช้หนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1264 จึงถือได้ว่า จำเลยที่ 2 ได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 เป็นการจงใจปฏิบัติหน้าที่โดยฝ่าฝืนกฎหมายอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 422 จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในหนี้ค่าภาษีอากรของจำเลยที่ 1 นับตั้งแต่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ชำระบัญชีในวงเงินไม่เกิน 7,820 บาท ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากร อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
     พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 รับผิดในหนี้ค่าภาษีอากรของจำเลยที่ 1 ในวงเงิน ไม่เกิน 7,820 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ"
     ข้อคิดเห็น
    1. เมื่อมีการเลิกบริษัทจะต้องมีการชำระบัญชีเสมอ ไม่ว่าบริษัทที่เลิกนั้นจะเป็นบริษัทเอกชนหรือบริษัทมหาชน การชำระบัญชีก็คือการชำระสะสางกิจการของบริษัทที่ค้างอยู่ให้เสร็จ สิ้นไป รวบรวมทรัพย์สิน ขายทรัพย์สิน ติดตามทวงถามหนี้สิน ดำเนินคดีหรือต่อสู้คดี ชำระหนี้ และแบ่งเงินหรือทรัพย์สินที่เหลืออยู่ภายหลังชำระหนี้แล้วให้แก่ผู้ถือหุ้นตลอดจนกระทำการอื่นตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้เสร็จสิ้นไป
    การชำระบัญชีต้องกระทำโดยบุคคลที่เรียกว่า "ผู้ชำระบัญชี (Liquidator)" ถ้าบริษัทที่เลิกเป็นบริษัทเอกชนผู้ชำระบัญชีจะได้แก่กรรมการของบริษัท เว้นแต่ข้อบังคับของบริษัทจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น เช่น กำหนดให้ผู้สอบบัญชีเป็นผู้ชำระบัญชี ก็ต้องเป็นไปตามข้อบังคับของบริษัท ในกรณีที่ไม่มีผู้ชำระบัญชีดังกล่าว พนักงานอัยการหรือผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้ชำระบัญชีได้(ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1251)
    ผู้ชำระบัญชีบริษัทเอกชนจะต้องขอจดทะเบียนเลิกบริษัทต่อนายทะเบียนภายใน 14 วัน นับแต่วันที่เลิกบริษัท ซึ่งการจดทะเบียนนี้จะต้องระบุชื่อผู้ชำระบัญชีทุกคนด้วย นอกจากนี้ภายใน 14 วัน นับแต่วันที่เลิกบริษัทหรือวันที่ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ชำระบัญชี ผู้ชำระบัญชีต้องประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์ท้องที่ 2 ครั้งเป็นอย่างน้อยว่า บริษัทได้เลิกกันแล้วและให้ผู้เป็นเจ้าหนี้ทั้งหลายยื่นคำทวงหนี้ต่อผู้ชำระบัญชีและผู้ชำระบัญชีต้องทำจดหมายลงทะเบียนไปรษณีย์แจ้งให้ เจ้าหนี้ทุกๆคนที่มีชื่อปรากฏในสมุดบัญชีหรือเอกสารของบริษัททราบว่า บริษัทได้เลิกกันแล้วและให้เจ้าหนี้ดังกล่าวยื่นคำทวงหนี้ต่อผู้ชำระบัญชี
    ผู้ชำระบัญชีต้องทำงบดุลขึ้นโดยเร็วที่สุด ที่เป็นวิสัยจะทำได้และส่งให้ผู้สอบบัญชีตรวจสอบว่าถูกต้องหรือไม่ เมื่อผู้สอบบัญชีตรวจสอบงบดุลและบัญชีกำไรขาดทุนว่าถูกต้องแล้ว ผู้ชำระบัญชีต้องเรียกประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นเพื่อให้ที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นพิจารณาว่าจะให้กรรมการบริษัทคงเป็นผู้ชำระบัญชีต่อไปหรือเลือกตั้ง ผู้ชำระบัญชีใหม่ขึ้นแทนที่ นอกจากนี้ก็เพื่อให้ที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นพิจารณาอนุมัติงบดุล และที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นจะสั่งให้ผู้ชำระบัญชีทำบัญชีตีราคาทรัพย์สินหรือให้การใดๆ ก็ได้ แล้วแต่ ที่ประชุมจะเห็นสมควร ทั้งนี้เพื่อชำระสะสางกิจการของบริษัทให้เสร็จไป (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1253-1256)
   ผู้ชำระบัญชีมีหน้าที่ชำระสะสางการงานของบริษัทให้เสร็จสิ้นไปกับจัดการใช้หนี้เงินและแจกจำหน่ายสินทรัพย์ของบริษัทนั้น (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1250) นอกจากนี้ผู้ชำระบัญชีมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
        1) แก้ต่างว่าต่างในนามบริษัทไม่ว่าจะเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญา รวมทั้งการประนีประนอมยอมความ
         2) ดำเนินกิจการของบริษัทตามแต่จำเป็นเพื่อการชำระสะสางกิจการให้เสร็จไปด้วยดี
         3) ขายทรัพย์สินของบริษัท
         4) ทำการอย่างอื่นตามแต่จำเป็นเพื่อชำระบัญชีให้เสร็จไปด้วยดี
         ข้อจำกัดอำนาจของผู้ชำระบัญชีอย่างใดๆ จะอ้างเป็นสมบูรณ์ต่อบุคคลภายนอกไม่ได้ (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1259 - 1260)
        ถ้ามีผู้ชำระบัญชีหลายคน การใดๆ ที่ ผู้ชำระบัญชีกระทำย่อมไม่เป็นอันสมบูรณ์นอกจากผู้ชำระบัญชีทั้งหลายจะได้ร่วมกันกระทำ เว้นแต่ที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นหรือศาลจะได้กำหนดอำนาจไว้เป็นอย่างอื่นในเวลาตั้งผู้ชำระบัญชี แต่มติของที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นหรือคำสั่งของศาลที่ให้อำนาจผู้ชำระบัญชีทำการแยกกันได้นั้นต้องจดทะเบียนภายใน 14 วัน นับแต่วันที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นลงมติหรือศาลมีคำสั่ง
         ค่าธรรมเนียม ค่าภาระติดพัน และค่า ใช้จ่าย ซึ่งต้องเสียโดยการในการชำระบัญชีนั้น ผู้ชำระบัญชีจะต้องจัดการใช้ก่อนหนี้เงินรายอื่นๆ (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1261 - 1263)
        ถ้าเจ้าหนี้คนใดมิได้ทวงถามให้ผู้ชำระบัญชีชำระหนี้ ผู้ชำระบัญชีจะนิ่งเฉยไม่ได้ ผู้ชำระบัญชีจะต้องวางเงินเท่าจำนวนหนี้นั้นต่อสำนักงานวางทรัพย์ กระทรวงยุติธรรม แทนการชำระหนี้
       ผู้ชำระบัญชีจะเรียกให้ผู้ถือหุ้นชำระเงิน ค่าหุ้นที่ยังค้างอยู่ก็ได้ เมื่อผู้ถือหุ้นได้รับแจ้งแล้วผู้ถือหุ้นต้องชำระทันที ซึ่งการเรียกให้ผู้ถือหุ้นชำระเงินค่าหุ้นที่ค้างนั้นในทางปฏิบัติผู้ชำระบัญชีจะทำก็ต่อเมื่อทรัพย์สินของบริษัทที่มีอยู่ไม่พอชำระหนี้
      ทรัพย์สินของบริษัท ผู้ชำระบัญชีจะต้องเอาไปชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ของบริษัทก่อน จะนำไปแบ่งให้ผู้ถือหุ้นไม่ได้ จะเอาไปแบ่งได้ต่อเมื่อมีทรัพย์สินเหลือจากการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ทุกรายแล้ว ถ้าผู้ชำระบัญชีเห็นว่าทรัพย์สินของบริษัทมีไม่พอชำระหนี้สินที่มีอยู่ ผู้ชำระบัญชีต้องร้องขอต่อศาลทันทีเพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้บริษัท ล้มละลาย
      ผู้ชำระบัญชีต้องทำรายงานยื่นต่อสำนัก งานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัททุก 3 เดือน เพื่อแสดงให้เห็นว่าผู้ชำระบัญชีได้จัดการชำระบัญชีไปอย่างไรบ้าง ซึ่งรายงานนี้ผู้ถือหุ้นและเจ้าหนี้มีสิทธิที่จะขอตรวจดูได้โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม และถ้าการชำระบัญชีไม่สามารถทำให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปี ผู้ชำระบัญชีจะต้องเรียกประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นในเวลาสิ้นปีทุกปีและต้องทำรายงานยื่นต่อที่ประชุมว่าได้จัดการชำระบัญชีไปอย่างไรบ้าง ทั้งแถลงให้ทราบถึงความเป็นไปของบัญชีโดยละเอียดด้วย
     เมื่อการชำระบัญชีเสร็จสิ้น ผู้ชำระบัญชีต้องทำรายงานการชำระบัญชีแสดงว่าการชำระบัญชีนั้นได้ดำเนินไปอย่างใดและได้จัดการทรัพย์สินของบริษัทไปประการใด แล้วเรียกประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นเพื่อเสนอรายงานนั้น ถ้าที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นอนุมัติรายงานนั้น ผู้ชำระบัญชีต้องนำผลการอนุมัตินั้นไปจดทะเบียนต่อนายทะเบียนภายใน 14 วันนับแต่วันประชุม เมื่อจดทะเบียนแล้วการชำระบัญชีจึงจะถือได้ว่าสิ้นสุดลงแล้ว
     เมื่อการชำระบัญชีสิ้นสุดลงแล้วผู้ชำระบัญชีต้องจัดการมอบสมุดบัญชีและเอกสารทั้งหมดของบริษัทให้แก่นายทะเบียนภายใน 14 วัน นับแต่วันประชุมดังกล่าว และนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทมีหน้าที่เก็บรักษาสมุดบัญชีและเอกสารดังกล่าวไว้มีกำหนด 10 ปี นับแต่วัน จดทะเบียนเสร็จสิ้นการชำระบัญชี สมุดบัญชีเอกสารเหล่านี้บุคคลผู้มีส่วนได้มีสิทธิตรวจดูได้โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม(ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1264 - 1271)
      ในการฟ้องคดีเรียกหนี้สินซึ่งบริษัท หรือ ผู้ถือหุ้น หรือผู้ชำระบัญชีเป็นลูกหนี้ เจ้าหนี้จะต้องฟ้องภายในกำหนดเวลา 2 ปี นับแต่วัน จดทะเบียนเสร็จสิ้นการชำระบัญชี (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1272)
      2. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1250 และ 1264 ผู้ชำระบัญชีจะต้องจัดการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ของบริษัทที่ตนชำระบัญชี หากเจ้าหนี้คนใดไม่ทวงถามให้ชำระหนี้ ผู้ชำระบัญชีจะนิ่งเฉยไม่ได้ ผู้ชำระบัญชีต้อง วางเงินเท่าจำนวนหนี้นั้นต่อสำนักวางทรัพย์ กระทรวงยุติธรรมแทนการชำระหนี้ เมื่อกฎหมายกำหนดหน้าที่ไว้เช่นนี้ หากผู้ชำระบัญชีรู้ว่าบริษัทที่ตนชำระบัญชีเป็นหนี้เจ้าหนี้รายใด แต่ผู้ชำระบัญชีไม่จัดการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้รายนั้น หรือจัดการวางทรัพย์แทนการชำระหนี้ ผู้ชำระบัญชีย่อมได้ชื่อว่า ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เป็นการจงใจปฏิบัติหน้าที่โดยฝ่าฝืนกฎหมายอันเป็นการละเมิดต่อเจ้าหนี้รายนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 และ 422 เจ้าหนี้รายนั้นย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ชำระบัญชีรับผิดชำระหนี้ให้แก่ตนได้ในวงเงินไม่เกินเงินหรือทรัพย์สินที่บริษัทนั้นเหลืออยู่
      คดีนี้เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ชำระบัญชีรู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้ค่าภาษีอากรกรมสรรพากรโจทก์ แต่ไม่จัดการชำระหนี้หรือจัดการวางทรัพย์แทนการชำระหนี้ จำเลยที่ 2 ย่อมได้ชื่อว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เป็นการจงใจปฏิบัติหน้าที่โดยฝ่าฝืนกฎหมายอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 และ 422 โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดในหนี้ค่าภาษีอากรของจำเลยที่ 1 ในวงเงินไม่เกินเงินหรือทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 ยังเหลืออยู่
     ขอแก้ไข
    ฎีกาภาษีเรื่อง "เงินได้ค่าที่ปรึกษากฎหมายของคณะบุคคลถือเป็นเงินได้ประเภทใด?" สรรพากรสาส์นฉบับเดือนมิถุนายน 2551 หน้า 59 ในส่วนคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 502/2526 (ประชุมใหญ่) วินิจฉัยว่า "เงินได้ของโจทก์ที่ได้รับจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตในประเทศไทยเป็นรายเดือนเป็นค่าตอบแทนการปฎิบัติหน้าที่ประจำในการรักษาผู้ป่วยซึ่งเป็นพนักงานและลูกจ้าง ณ สถานพยาบาลของการไฟฟ้าฯ เป็นเงินได้ พึงประเมินตามมาตรา 40(2) จึงหักค่าใช้จ่ายตามมาตรา 44" ข้อความที่ว่า "จึงหักค่าใช้จ่ายได้ตามมาตรา 44" นั้น ขอแก้ไขเป็น "จึงหักค่าใช้จ่ายได้ตามมาตรา 42 ทวิ มิใช่เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (6) ที่จะหักค่าใช้จ่ายตามมาตรา 44"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น