วันอาทิตย์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2558

กรณีซื้อกู้ยืมเงินเพื่อซื้อที่ดินเป็นการทั่วไปที่มิใช่การนำมาจัดสรรหรือสร้างอาคารบนที่ดินเพื่อขาย ในลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร นั้น ย่อมถือได้ว่า ที่ดินพร้อมใช้งานตั้งแต่วันที่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์แล้ว ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมดังกล่าว จึงต้องถือเป็นรายจ่ายในการดำเนินกิจการในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีที่เกิดรายการดอกเบี้ยดังกล่าว

สำนักงานบัญชีไม่มีความเกี่ยวข้องใดกับอาจารย์สุเทพ พงษ์พิทักษ์ทั้งสิ้น
เป็นการนำมาแสดงประกอบข้อกฏหมายอ้างอิง 
เพื่อใช้เป็นแนวปฏิบัติตามประมวลรัษฎากรโดยมีหลักกฎหมายอ้างอิงเท่านั้น

ที่มา Fanpages :- สุเทพ พงษ์พิทักษ์

คุณ NunoiNoi (3 กันยายน 2558 เวลา 22:19 น.)
ปุจฉา: เรียน อาจารย์สุเทพ พงษ์พิทักษ์
ขอเรียนสอบถามปัญหาเกี่ยวกับภาษีอากร ดังนี้ ค่ะ

บริษัท ก ประกอบกิจการโรงพิมพ์ เมื่อปี 2548 บริษัทฯ ได้กู้ยืมเงินมาจำนวนหนึ่ง เพื่อซื้อที่ดิน 1 แปลง และได้ขายที่ดินดังกล่าวไปเมื่อปี 2556 โดยระหว่างปี 2548 ถึงปี 2556 ได้จ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ยืมดังกล่าว ตามข้อตกลงของสัญญากู้ยืม และยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 ปี 2548 ถึงปี 2555 โดยนำดอกเบี้ยจ่ายดังกล่าวเป็นรายจ่ายของบริษัทฯ แต่ได้บวกกลับเป็นรายจ่ายต้องห้ามไว้ด้วย และในปี 2556 เมื่อบริษัทฯ ขายที่ดินได้นำดอกเบี้ยจ่ายทั้งหมดรวมเป็นต้นทุนของที่ดิน เมื่อหักราคาขาย บริษัทฯ มีผลขาดทุนจากการจำหน่าย จึงขอเรียนสอบถามว่า การปฏิบัติของบริษัทฯ ถูกต้องตามประมวลรัษฎากร หรือไม่ อย่างไร
ขอบพระคุณค่ะ

สุเทพ พงษ์พิทักษ์
วิสัชนา:ตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 375) พ.ศ. 2543 กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้น ส่วนนิติบุคคลเป็นจำนวนเท่ากับดอกเบี้ยเงิน กู้ยืมเพื่อซื้อหรือให้ได้มาซึ่งทรัพย์สิน ทั้งนี้ เฉพาะดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นตั้งแต่วัน ที่ทรัพย์สินดังกล่าวอยู่ในสภาพพร้อมที่จะใช้ได้ตามประสงค์ดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นดังกล่าวให้เป็น ไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อหรือให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 92) ลงวันที่ 16 มีนาคม 2544 ไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อหรือให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินต้องเป็นดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นโดยตรงเนื่องจากการดำเนินธุรกิจการค้าหรือ วิชาชีพหรือเกี่ยวเนื่องโดยตรงต่อทรัพย์สินที่ก่อให้เกิดรายได้

ข้อ 2 ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อหรือให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินเกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีใด ให้ปฏิบัติดังนี้

(1) ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ทรัพย์สินนั้นอยู่ในสภาพพร้อม ที่จะใช้ได้ตามประสงค์ให้ถือเป็นต้นทุนของทรัพย์สินหรือรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน

(2) ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ทรัพย์สินนั้นอยู่ในสภาพพร้อมที่ จะใช้ได้ตามประสงค์ให้ได้รับสิทธิยกเว้นภาษี

กรณีที่เงินกู้มานั้นได้นำไปใช้เพื่อซื้อหรือให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินหรือใช้ใน กิจการอื่น ๆ รวมกัน ในการคำนวณตาม (1) และหรือ (2) ให้นำดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเฉพาะในส่วนที่ เกี่ยวกับการซื้อหรือให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินมาคำนวณเท่านั้น

ข้อ 3 เมื่อได้ปฏิบัติตามข้อ 2 (2) แล้ว บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจะต้องไม่นำดอกเบี้ยเงินกู้ยืมดังกล่าวไปรวมคำนวณเป็นต้นทุนของทรัพย์สินหรือรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน หรือไปหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลอีก


กรณีซื้อกู้ยืมเงินเพื่อซื้อที่ดินเป็นการทั่วไปที่มิใช่การนำมาจัดสรรหรือสร้างอาคารบนที่ดินเพื่อขาย ในลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร นั้น ย่อมถือได้ว่า ที่ดินพร้อมใช้งานตั้งแต่วันที่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์แล้ว ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมดังกล่าว จึงต้องถือเป็นรายจ่ายในการดำเนินกิจการในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีที่เกิดรายการดอกเบี้ยดังกล่าว

1. ระหว่างปี 2548 ถึงปี 2556 ได้จ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ยืมดังกล่าว ตามข้อตกลงของสัญญากู้ยืม และยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 ปี 2548 ถึงปี 2555 โดยนำดอกเบี้ยจ่ายดังกล่าวเป็นรายจ่ายของบริษัทฯ แต่ได้บวกกลับเป็นรายจ่ายต้องห้ามไว้ นั้น บริษัทฯ ปฏิบัติไม่ถูกต้องตามประมวลรัษฎากร เพราะดอกเบี้ยดังกล่าวบริษัทฯ สามารถนำไปถือเป็นรายจ่ายได้

2. ในปี 2556 เมื่อบริษัทฯ ขายที่ดินได้นำดอกเบี้ยจ่ายทั้งหมดรวมเป็นต้นทุนของที่ดิน เมื่อหักราคาขาย บริษัทฯ มีผลขาดทุนจากการจำหน่าย การปฏิบัติของบริษัทฯ ไม่ถูกต้องตามประมวลรัษฎากร เพราะ ให้นำเฉพาะต้นทุนที่ดินที่ซื้อมาถือเป็นต้นทุนเท่านั้น สำหรับดอกเบี้ยของแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี ก็ให้ถือเป็นรายจ่ายขอแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีนั้นไป



บริษัทฯ จึงต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2548 – 2555 ใหม่ โดยนำดอกเบี้ยจ่ายมาถือรวมเป็นรายจ่ายในการดำนวณกำรสุทธิในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีนั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น