วันศุกร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2558

การจ่ายค่านายหน้าให้บริษัทที่อยู่ในต่างประเทศ และบุคคลชาวต่างประเทศที่ไม่ได้อาศัยในประเทศไทย

สำนักงานบัญชีไม่มีความเกี่ยวข้องใดกับอาจารย์สุเทพ พงษ์พิทักษ์ทั้งสิ้น
เป็นการนำมาแสดงประกอบข้อกฏหมายอ้างอิง 
เพื่อใช้เป็นแนวปฏิบัติตามประมวลรัษฎากรโดยมีหลักกฎหมายอ้างอิงเท่านั้น

ที่มา Fanpages :- สุเทพ พงษ์พิทักษ์

คุณเพ็ญศรี บุญมี “Xiulan Yu” (7 กันยายน 2558 เวลา 2:46 น.)
ปุจฉา: เรียนถาม อาจารย์สุเทพที่เคารพ
ได้มีโอกาสเข้ารับการอบรมเรื่องการวางแผนรายจ่ายต้องห้ามเมื่อ 21 สิงหาคม ที่ผ่านมา ประทับใจมากค่ะที่อาจารย์ให้ความรู้เต็มที่ ตอบทุกคำถามที่ผู้เข้าอบรมเรียนถาม วันนี้ขอเรียนถามอาจารย์เกี่ยวกับการจ่ายค่านายหน้าให้บริษัทที่อยู่ในต่างประเทศ และบุคคลชาวต่างประเทศที่ไม่ได้อาศัยในประเทศไทย ดังนี้ค่ะ
1) ในการทำสัญญา มีภาระภาษีอะไร ที่บริษัทฯ ต้องหักจากผู้รับเงิน และควรระบุให้ทราบในสัญญา
2) บริษัทฯ ต้องนำส่งภาษีอะไรบ้างให้กรมสรรพากร
ขอรบกวนอาจารย์ด้วยค่ะเนื่องจากบริษัทฯ จำเป็นต้องเพิ่มช่องทางในการหาลูกค้าต่างประเทศให้มาใช้บริการและอยากทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย
ด้วยความเคารพอย่างสูง

สุเทพ พงษ์พิทักษ์
วิสัชนา:
โดยทั่วไป ค่านายหน้า ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร
1. กรณีจ่ายค่านายหน้าให้บุคคลชาวต่างประเทศที่ไม่ได้อาศัยในประเทศไทย
ไม่ว่านายหน้าตัวแทนผู้มีเงินได้ค่านายหน้านั้น จะมีภูมิลำเนาตั้งอยู่ในประเทศที่มีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไทยหรือไม่ก็ตาม บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 (1) วรรคท้าย แห่งประมวลรัษฎากร ในอัตราร้อยบละ 15.0 ของเงินได้ พร้อมทั้งยื่นแบบ ภ.ง.ด.1 ภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดจากเดือนที่จ่ายเงินได้
2. กรณีภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับการจ่ายค่านายหน้าให้แก่บริษัทที่อยู่ในต่างประเทศ
(1) กรณีบริษัทนายหน้าตัวแทนที่เป็นผู้รับเงินได้ตั้งอยู่ในประเทศที่ไม่มีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไทย ให้บริษัทฯ คำนวณหักภาษีเงินได้นิติบุคคล ณ ที่จ่ายตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร ในอัตราร้อยละ 15.0 ของเงินได้ที่จ่าย พร้อมทั้งยื่นแบบ ภ.ง.ด.54 ภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดจากเดือนที่จ่ายเงินได้
(2) กรณีบริษัทนายหน้าตัวแทนที่เป็นผู้รับเงินได้ตั้งอยู่ในประเทศที่มีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไทย บริษัทฯ ไม่ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้นิติบุคคล ณ ที่จ่ายตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากเงินได้ที่จ่ายเข้าลักษณะเป็นเงินได้ที่เป็น “กำไรจากธุรกิจ” (Business Profit) ซึ่งจะมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร เฉพาะกรณีที่บริษัทต่างประเทศนั้น มีสถานประกอบการถาวรตั้งอยู่ในประเทศไทย
3. กรณีภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการจ่ายค่าหน้าหน้าให้แก่ผู้รับทั้งที่เป็นบุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น
(1) กรณีนายหน้าตัวแทนนั้นหาลูกค้าในประเทศไทยให้แก่บริษัทฯ ถือเป็นการให้บริการที่กระทำในต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร (Out - In) เข้าลักษณะเป็นการให้บริการที่อยู่ในข่ายที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT Scope) บริษัทฯ จึงมีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 83/6 (2) แห่งประมวลรัษฎากร พร้อมทั้งยื่น แบบ ภ.พ.36 ภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดจากเดือนที่จ่ายเงินได้ 

(2) กรณีนายหน้าตัวแทนหาลูกค้าในต่างประเทศ ถือเป็นการให้บริการที่กระทำในต่างประเทศ และได้ใช้บริการนั้นในต่างประเทศ (Out - Out) ไม่เข้าลักษณะเป็นการให้บริการที่อยู่ในข่ายที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (Out of VAT Scope) บริษัทฯ ไม่มีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 83/6 (2) แห่งประมวลรัษฎากร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น