วันอาทิตย์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ภาระภาษีกับการจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงที่พักให้กับพนักงาน

สำนักงานบัญชีไม่มีความเกี่ยวข้องใดกับอาจารย์สุเทพ พงษ์พิทักษ์ทั้งสิ้น
เป็นการนำมาแสดงประกอบข้อกฏหมายอ้างอิง 
เพื่อใช้เป็นแนวปฏิบัติตามประมวลรัษฎากรโดยมีหลักกฎหมายอ้างอิงเท่านั้น

ที่มา Fanpages :- สุเทพ พงษ์พิทักษ์


คุณ Saovakhon Somabot (28 กันยายน 2558 เวลา 17:40 น. จากกรุงเทพมหานคร)
ปุจฉา: เรียน อาจารย์สุเทพที่เคารพ
เรื่อง ภาระภาษีกับการจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงที่พักให้กับพนักงาน
บริษัทฯ ได้กำหนดระเบียบการจ่ายค่าเบี้ยงเลี้ยงที่พักให้กับพนักงานที่เดินทางไปปฏิบัติงานนอกสํานักงานหรือนอกสถานที่เป็นครั้งคราวไว้ดังนี้
การเบิกค่าเบี้ยเลี้ยงอัตราเหมาจ่าย
ระดับผู้ช่วยผู้จัดการลงมา อัตรา 400 บาท/คน/วัน
ระดับผู้จัดการขึ้นไป อัตรา 500 บาท/คน/วัน
การเบิกที่พักตามจริง
ระดับผู้ช่วยผู้จัดการลงมา อัตรา 1,500 บาท/คน/วัน (มีหลักฐานการจ่ายเงิน)
ระดับผู้จัดการขึ้นไป อัตรา 2,000 บาท/คน/วัน (มีหลักฐานการจ่ายเงิน)
เหมาจ่าย 
ระดับผู้ช่วยผู้จัดการลงมา อัตรา 800 บาท/คน/วัน
ระดับผู้จัดการขึ้นไป อัตรา 1,200 บาท/คน/วัน
กรณีที่ 1. 
บริษัทฯ จ่ายให้พนักงานเป็นค่าเบี้ยเลี้ยง 400 บาท และค่าที่พัก 1,500 บาท (มีใบเสร็จ ค่าที่พักตามที่จ่ายจริง)
กรณีที่ 2.
 บริษัทฯ จ่ายให้พนักงานในอัตราเหมาจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยง (รวมค่าที่พัก) 1,700 บาท โดยทำการจ่ายเข้าบัญชีเงินเดือน (ระบบPayroll) รวมกับเงินเดือนทุกสิ้นเดือน (ไม่มีหลักฐานการจ่ายเงิน)
กรณีที่ 3.
บริษัทฯ จ่ายให้พนักงานในอัตราเหมาจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยง (รวมค่าที่พัก) 1,700 บาทต่อคนต่อวันโดยเบิกเป็นค่าที่พัก 1,500 บาท (มีหลักฐานการจ่ายเงิน) และเบิกค่าเบี้ยเลี้ยง 240 บาท
(ค่าเบี้ยเลี้ยงกำหนดให้เบิกได้ไม่เกินอัตราสูงสุดขอทางราชการ)
ขอเรียนสอบถามว่ากรณีที่ 1-3 มีประด็นความผิดและ มีภาระภาษีต่อบริษัทฯ และภาษีเงินได้ของพนักงานอย่างไร ขอคำแนะนำวิธีที่ถูกต้องด้วยค่ะ
ด้วยความเคารพอย่างสูง

สุเทพ พงษ์พิทักษ์
วิสัชนา:
ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 59/2538 ลงวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2538 ได้กำหนดแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทางที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 42 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ดังต่อไปนี้
“ข้อ 1 ค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทางที่ลูกจ้างหรือผู้มีหน้าที่หรือตำแหน่งงาน หรือผู้รับทำงานให้ ได้รับเนื่องจากการเดินทางไปปฏิบัติงานตามหน้าที่ในประเทศหรือต่างประเทศเป็นครั้งคราว ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต้องเข้าลักษณะดังนี้
(1) ต้องเป็นค่าเบี้ยเลี้ยงซึ่งบุคคลดังกล่าวได้จ่ายไปโดยสุจริตตามความจำเป็นเฉพาะในการที่จะต้องปฏิบัติการตามหน้าที่ของตนและได้จ่ายไปทั้งหมดในการนั้น 

(2) ในกรณีบุคคลดังกล่าวได้รับค่าเบี้ยเลี้ยงในอัตราไม่เกินอัตราค่าเบี้ยเลี้ยงสูงสุดที่ทางราชการกำหนดจ่ายให้แก่ข้าราชการ ตามพระราชกฤษฎีกา ว่าด้วย ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ ในประเทศหรือต่างประเทศ แล้วแต่กรณี ตามหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายในลักษณะเหมาจ่าย ให้ถือว่าค่าเบี้ยเลี้ยงดังกล่าว เป็นค่าเบี้ยเลี้ยงซึ่งบุคคลดังกล่าวได้จ่ายไปโดยสุจริตตามความจำเป็นเฉพาะในการที่ต้องปฏิบัติงานตามหน้าที่ของตนและได้จ่ายไปทั้งหมดในการนั้น โดยไม่ต้องมีหลักฐานการจ่ายเงินมาพิสูจน์

(3) ในกรณีบุคคลดังกล่าวได้รับค่าเบี้ยเลี้ยงในอัตราเกินกว่าอัตราค่าเบี้ยเลี้ยงตาม (2) และบุคคลดังกล่าวไม่มีหลักฐานมาพิสูจน์ว่าได้จ่ายไปโดยสุจริตตามความจำเป็นเฉพาะในการที่ต้องปฏิบัติงานตามหน้าที่ของตนและได้จ่ายไปทั้งหมดในการนั้นให้ถือว่าค่าเบี้ยเลี้ยงดังกล่าวเป็นค่าเบี้ยเลี้ยงซึ่งบุคคลนั้นได้จ่ายไปโดยสุจริตตามความจำเป็น เพียงเฉพาะในส่วนที่ไม่เกินอัตราตาม (2)
ข้อ 2 การเดินทางไปปฏิบัติงานตามหน้าที่ ตามข้อ 1 ต้องมีหลักฐานการได้รับอนุมัติให้เดินทางไปปฏิบัติงานนอกสำนักงานหรือนอกสถานที่จากนายจ้างหรือผู้จ่ายเงินได้ โดยต้องระบุลักษณะงานที่ทำและระยะเวลาในการปฏิบัติงานตามหน้าที่แล้วแต่กรณีด้วย...”



ต่อข้อถาม ขอเรียนว่า



กรณีที่ 1 บริษัทฯ จ่ายให้พนักงานเป็นค่าเบี้ยเลี้ยง 400 บาท และค่าที่พัก 1,500 บาท (มีใบเสร็จ ค่าที่พักตามที่จ่ายจริง) เป็นค่าเบี้ยเลี้ยงซึ่งบุคคลดังกล่าวได้จ่ายไปโดยสุจริตตามความจำเป็นเฉพาะในการที่จะต้องปฏิบัติการตามหน้าที่ของตนและได้จ่ายไปทั้งหมดในการนั้น ซึ่งได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 42 (1) แห่งประมวลรัษฎากร

กรณีที่ 2 บริษัทฯ จ่ายให้พนักงานในอัตราเหมาจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยง (รวมค่าที่พัก) 1,700 บาท โดยทำการจ่ายเข้าบัญชีเงินเดือน (ระบบ Payroll) รวมกับเงินเดือนทุกสิ้นเดือน (ไม่มีหลักฐานการจ่ายเงิน) ถือเป็นเงินได้พึงประเมินที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 42 (1) แห่งประมวลรัษฎากร

กรณีที่ 3 บริษัทฯ จ่ายให้พนักงานในอัตราเหมาจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยง (รวมค่าที่พัก) 1,700 บาทต่อคนต่อวัน โดยเบิกเป็นค่าที่พัก 1,500 บาท (มีหลักฐานการจ่ายเงิน) และเบิกค่าเบี้ยเลี้ยง 240 บาท (ค่าเบี้ยเลี้ยงกำหนดให้เบิกได้ไม่เกินอัตราสูงสุดขอทางราชการ) เป็นค่าเบี้ยเลี้ยงซึ่งบุคคลดังกล่าวได้จ่ายไปโดยสุจริตตามความจำเป็นเฉพาะในการที่จะต้องปฏิบัติการตามหน้าที่ของตนและได้จ่ายไปทั้งหมดในการนั้น ซึ่งได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 42 (1) แห่งประมวลรัษฎากร

  • Saovakhon Somabot ขอสอบถามเพิ่มตามข้อ1การ จ่ายค่าเบี้ยเลี้ยง 400 บาทถือว่า เกินอัตราสูงสุดของทางราชการอ้างอิงข้อ2ของ กฏหมาย ส่วนที่เกินถือเป็นเงินได้พุึงประเมินหรือไม่ค่ะ
    • สุเทพ พงษ์พิทักษ์ ตามโจทย์แจ้งว่า บริษัทฯ จ่ายให้พนักงานเป็นค่าเบี้ยเลี้ยง 400 บาท และค่าที่พัก 1,500 บาท โดยมีใบเสร็จ ค่าที่พักตามที่จ่ายจริง จึงไม่จำเป็นต้องเปรียบเที่ยบกับค่าเบี้ยเลี้ยงเป็นการเหมาตามเกณฑ์ของทางราชการในคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 59/2538 เข้าลักษณะเป็นค่าเบี้ยเลี้ยงซึ่งบุคคลดังกล่าวได้จ่ายไปโดยสุจริตตามความจำเป็นเฉพาะในการที่จะต้องปฏิบัติการตามหน้าที่ของตนและได้จ่ายไปทั้งหมดในการนั้น ตามมาตรา 42 (1) แห่งประมวลรัษฎากร
ที่มา:- http://www.rd.go.th/publish/554.0.html
เงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษี มีอยู่หลายกรณีที่สำคัญๆ ได้แก่ การยกเว้นตามมาตรา 42 แห่งประมวลรัษฎากร การยกเว้นตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 การยกเว้นตามพระราชกฤษฎีกา ฉบับต่างๆ เป็นต้น  เงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีมีดังนี้

     1. ค่าเบี้ยเลี้ยง หรือ ค่าพาหนะ ซึ่งลูกจ้างหรือผู้รับหน้าที่หรือตำแหน่งงาน หรือผู้รับทำงาน ให้ได้จ่ายไปโดยสุจริต ตามความจำเป็นเฉพาะในการที่ต้องปฏิบัติการตามหน้าที่ของตน และได้จ่ายไปทั้งหมด ในการนั้น
     2. ค่าพาหนะและเบี้ยเลี้ยงเดินทางตามอัตราที่รัฐบาลกำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยอัตรา ค่าพาหนะและเบี้ยเลี้ยงเดินทาง
     3. เงินค่าเดินทางซึ่งนายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้าง เฉพาะส่วนที่ลูกจ้างได้จ่ายทั้งหมดโดยจำเป็น เพื่อการเดินทางจากต่างถิ่นในการเข้ารับงานเป็นครั้งแรก หรือในการกลับถิ่นเดิมเมื่อการจ้างสิ้นสุดลงแล้ว แต่ข้อยกเว้นนี้มิให้รวมถึงเงินค่าเดินทางที่ลูกจ้างได้รับในการย้ายกลับถิ่นเดิม และในการเข้ารับงานของนายจ้างเดิมภายใน 365 วัน นับแต่วันที่การจ้างครั้งก่อนได้สิ้นสุดลง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น