วันอาทิตย์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ให้เช่ารถตู้เพื่อนำเที่ยวต่างจังหวัด แต่มีคนขับไปด้วยค่าน้ำมันคนเช่าเป็นผู้จ่าย อันนี้จะเข้า ม. 40 (5) หรือ ม. 40 (8) ค่ะ

สำนักงานบัญชีไม่มีความเกี่ยวข้องใดกับอาจารย์สุเทพ พงษ์พิทักษ์ทั้งสิ้น
เป็นการนำมาแสดงประกอบข้อกฏหมายอ้างอิง 
เพื่อใช้เป็นแนวปฏิบัติตามประมวลรัษฎากรโดยมีหลักกฎหมายอ้างอิงเท่านั้น

ที่มา Fanpages :- สุเทพ พงษ์พิทักษ์

คุณ Montha Santiwittayanon (24 กันยายน 2558 เวลา 16:32 น.)
ปุจฉา: สวัสดีค่ะอาจารย์
หนูรบกวนขอถามอาจารย์ว่า เพื่อนให้เช่ารถตู้เพื่อนำเที่ยวต่างจังหวัด แต่มีคนขับไปด้วยค่าน้ำมันคนเช่าเป็นผู้จ่าย อันนี้จะเข้า ม. 40 (5) หรือ ม. 40 (8) ค่ะ
ขอบคุณค่ะ

สุเทพ พงษ์พิทักษ์
วิสัชนา:
กรณีมีรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งเกิน 10 ที่นั่งหรือรถตู้ “ให้เช่า” เพื่อนำเที่ยวต่างจังหวัด โดยมีคนขับไปด้วย ในส่วยของค่าน้ำมันผู้เช่าฯ เป็นผู้จ่าย นั้น ข้อเท็จจริงในการประกอบกิจการยังไม่เพียงพอที่จะวินิจฉัย นอกจาก พิจารณาไปตามตัวอักษร อาทิ ประเด็นการส่งมอบการครอบครองรถยนต์ ความรับผิดในความเสียหายต่อผู้โดยสารในระหว่างเวลาตามสัญญา จึงต้อง “มโน” เพิ่มเองดังนี้
1. กรณีเจ้าของรถยนต์โดยสารไม่มีการส่งมอบการครอบครองรถยนต์ของตน และต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อผู้โดยสารที่ตนนำพาไปนั้น โดยการทำประกันวินาศภัยรถยนต์และผู้โดยสารเอง มิใช่ผู้ขอใช้บริการเป็นผู้ทำประกันวินาศภัย เข้าลักษณะเป็นการประกอบกิจการให้บริการ “ขนส่ง” ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร สามารถหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ในอัตราร้อยละ 80 ของเงินได้พึงประเมิน

ในกรณีนี้ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ก็ให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าบริการขนส่งด้วย
หากผู้รับนริการเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 1.0 ของเงินได้ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528
การให้บริการขนส่งเป็นการให้บริการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม
สัญญารับจ้างขนส่ง ไม่อยู่ในบังคับที่ต้องปิดอากรแสตมป์

2. กรณีเจ้าของรถยนต์ “ให้เช่า” รถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งเกิน 10 คน ซึ่งองค์ประกอบตามสัญญาต้องมีการส่งมอบการครอบครองรถยนต์ดังกล่าว ระหว่างเวลาการเช่า และผู้เช่าเป็นผู้รับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ผู้โดยสารหรือสัมภาระในระหว่างเวลาที่เข่า นั้น ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (5)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร สามารถหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ในอัตราร้อยละ 30 ของเงินได้พึงประเมิน
ในกรณีนี้ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ไม่ถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าบริการให้เช่าด้วย
หากผู้รับนริการเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 5.0 ของเงินได้ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528
การให้บริการให้เช่ารถยนต์เป็นการให้บริการที่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/2 (1) ประกอบกับมาตรา 77/1 (10) แห่งประมวลรัษฎากร
สัญญาให้บริการเช่ารถยนต์ ซึ่งเป็นสังหาริมทรัพย์ ไม่อยู่ในบังคับที่ต้องปิดอากรแสตมป์

3. กรณีเจ้าของรถยนต์ให้บริการ “นำเที่ยว” ได้แก่ การให้บริการขนส่งผสมกับการให้บริการนำเที่ยวในสถานที่กำหนด โดยมีมัคคุเทศก์ เป็นผู้บรรยาย ชี้แจง แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (7) แห่งประมวลรัษฎากร – การรับเหมาที่ต้องจัดหาสัมภาระในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ สามารถหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ในอัตราร้อยละ 70 ของเงินได้พึงประเมิน

ในกรณีนี้ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ก็ให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าบริการนำเที่ยวด้วย
หากผู้รับนริการเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3.0 ของเงินได้ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528
การให้บริการนำเที่ยวเป็นการให้บริการที่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/2 (1) ประกอบกับมาตรา 77/1 (10) แห่งประมวลรัษฎากร

สัญญารับจ้างรับจ้างนำเที่ยว อยู่ในบังคับที่ต้องปิดอากรแสตมป์ ตามลักษณะตราสารที่ 4 แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ในอัตรา 1 บาทต่อทุกจำนวนเงิน 1,000 บาท หรือเศษของ 1,000 บาท แห่งสินจ้างที่กำหนดไว้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น