วันอาทิตย์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2559

พระราชกฤษฎีกา 604 ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้เท่ากับรายจ่ายลงทุนตั้งแต่ 3/11/58 ถึง 31/12/59


ประกาศยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล 

สําหรับเงินได้เท่ากับรายจ่ายที่ได้จ่ายเพื่อการลงทุน หรือการต่อเติม
 เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทําให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการ แต่ไม่ใช่เป็นการซ่อมแซม ให้คงสภาพเดิม ตามมาตรา ๖๕ ตรี (๕) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นจํานวนร้อยละหนึ่งร้อยของรายจ่าย ตามจํานวนที่จ่ายจริง และต้องเป็นทรัพย์สินดังต่อไปนี้

 (๑) เครื่องจักร ส่วนประกอบ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องตกแต่ง และเฟอร์นิเจอร์

(๒) โปรแกรมคอมพิวเตอร์

(๓) ยานพาหนะที่จดทะเบียนในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยยานพาหนะนั้น ๆ แต่ไม่รวมถึง รถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน ๑๐ คน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ที่มิใช่ได้มาเพื่อนําออกให้เช่า

(๔) อาคารถาวร แต่ไม่รวมถึงที่ดินและอาคารถาวรที่ใช้เพื่อการอยู่อาศัย รายจ่ายที่ได้จ่ายไปตามวรรคหนึ่ง

ต้องจ่ายไปตั้งแต่วันที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๘ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ 

ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกําหนด มาตรา ๔ ทรัพย์สินตามมาตรา ๓ ต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้ 

(๑) ไม่เคยผ่านการใช้งานมาก่อน 
(๒) ต้องสามารถหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามมาตรา ๖๕ ทวิ (๒) แห่งประมวลรัษฎากร และต้องได้ทรัพย์สินนั้นมาและอยู่ในสภาพพร้อมใช้การได้ตามประสงค์ภายในวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๙ 
(๓) ต้องอยู่ในราชอาณาจักร เว้นแต่ยานพาหนะตามมาตรา ๓ (๓) 
(๔) ไม่เป็นทรัพย์สินที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นตามพระราชกฤษฎีกา ที่ออกตามความในประมวลรัษฎากร ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน 
(๕) ไม่เป็นทรัพย์สินที่นําไปใช้ในกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วย การส่งเสริมการลงทุน ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน เว้นแต่เป็นการนําไปใช้ในโครงการตามมาตรการเร่งรัด การลงทุนของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่ได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน ที่ยังไม่มีการลงทุนจริงและเลือกที่จะไม่ใช้สิทธิประโยชน์นั้น

อ้างอิง:- พระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๖๐๔) พ.ศ. ๒๕๕๙ คลิกข้างล่าง
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2559/A/033/45.PDF

อ้างอิง:- ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ ๒๖๖) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายเพื่อการลงทุนหรือการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สินแต่ไม่ใช่เป็นการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิม ตามมาตรา ๖๕ ตรี (๕) แห่งประมวลรัษฎากร
http://www.rd.go.th/publish/fileadmin/user_upload/kormor/newlaw/dg266.pdf

รถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งเกิน ๑๐ คน ที่ลงทุนและสามารถนำมายกเว้นภาษีได้มีหนังสือตอบข้อหารือกรมสรรพากรไว้ดังนี้

เลขที่หนังสือ:กค 0706/5768
วันที่:11 มิถุนายน 2550
เรื่อง:ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีเงินค่าเช่าทรัพย์สินแบบลิสซิ่ง
ข้อกฎหมาย:พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 315)
ข้อหารือ:       1. ห้างหุ้นส่วนจำกัด A เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้าง และกิจการโรงแรม
        2. ห้างฯ ได้ทำสัญญาเช่ารถยนต์แบบลิสซิ่งยี่ห้อ VOLKSWAGEN รุ่น T5 ปี 2004 จดทะเบียนเป็นประเภท รย.2 รถยนต์นั่งเกิน 7 ที่นั่ง โดยมีระยะเวลาการเช่า 48 เดือน และมีสิทธิที่จะซื้อคืนเมื่อครบกำหนดระยะเวลาการเช่า
        3. ห้างฯ ขอทราบว่า
                3.1 "รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 ที่นั่ง" ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตซึ่งเป็นประเภท รย.2 กับ" ประเภทรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน" ตามมาตรา 4(2)แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยรายจ่ายที่ไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ (ฉบับที่ 315) พ.ศ. 2540 มีข้อแตกต่างกันอย่างไร
                3.2 การจัดประเภทรถยนต์ดังกล่าว ไม่เข้าลักษณะเป็นรายจ่ายที่ไม่ให้ถือเป็นรายจ่าย ในการคำนวณกำไรสุทธิ ตามมาตรา 4(1) และ (2) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 315) พ.ศ. 2540 ใช่หรือไม่
                3.3 ห้างฯ จะนำค่าเช่าไปถือเป็นค่าใช้จ่ายได้ ถูกต้องหรือไม่
                3.4 ห้างฯ นำภาษีมูลค่าเพิ่มของค่าเช่าแต่ละงวด ไปถือเป็นภาษีซื้อได้ทั้งจำนวน ถูกต้องหรือไม่ หากไม่ถูกต้อง จะถือเป็นภาษีซื้อได้จำนวนเท่าใด
                3.5 ภาษีมูลค่าเพิ่มของเงินประกันการเช่าจะนำไปถือเป็นภาษีซื้อได้หรือไม่
                3.6 เมื่อครบกำหนดเวลาการเช่า และห้างฯ ได้ใช้สิทธิซื้อรถในราคาตกลงตามสัญญา
        (ก) ภาษีซื้อ จากการซื้อรถยนต์ดังกล่าวถือเป็นภาษีซื้อต้องห้ามหรือไม่
        (ข) การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของรถยนต์ดังกล่าวต้องหักจากราคาใด ราคารวมภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม
แนววินิจฉัย:       1.กรณีตาม 3.1 รถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกินสิบคน ตามมาตรา 4(2) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 315) พ.ศ. 2540 หมายความถึง รถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกินสิบคน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527
        2. กรณีตาม 3.2 3.3 3.4 และ3.5 หากปรากฏข้อเท็จจริงว่า ห้างฯ ได้ชำระค่าเช่ารถยนต์ยี่ห้อ VOLKSWAGEN รุ่น T5 ปี 2004 โดยมีรายการจดทะเบียนเป็นประเภทรถตู้นั่งสี่ตอนจำนวนที่นั่งสิบเอ็ดคน ซึ่งไม่เข้าลักษณะเป็นรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกินสิบคน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 เพื่อนำไปใช้ในกิจการของห้างฯ ห้างฯ จึงมีสิทธินำค่าเช่า มาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ทั้งจำนวน ไม่ต้องห้ามตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 315) พ.ศ. 2540 และมีสิทธินำภาษีซื้อจากค่าประกันและค่าเช่ารถยนต์ดังกล่าว ไปหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ทั้งนี้ ตามมาตรา 82/ 3 และมาตรา 82/5(6) แห่งประมวลรัษฎากร
        3. กรณีตาม 3.6 ห้างฯ ได้ใช้สิทธิซื้อรถยนต์ในราคาที่ตกลงตามสัญญาจากผู้ให้เช่าลิสซิ่ง ถือว่ารถยนต์ดังกล่าวเป็นทรัพย์สินของห้างฯ ซึ่งห้างฯ ต้องนำมูลค่าราคาที่ซื้อรถยนต์โดยไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มในขณะที่ครบกำหนดเวลาเช่าตามสัญญาเช่าลิสซิ่งดังกล่าว มาเป็นต้นทุนทรัพย์สินเพื่อนำมาหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาทรัพย์สิน ตามหลักเกณฑ์วิธีการ เงื่อนไข และอัตราที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 145)ฯ พ.ศ. 2527
เลขตู้: 70/35020

3 ความคิดเห็น:

  1. หากเรามีการเซ็นสัญญาจ้างรับเหมาก่อสร้างและจ่ายเงินมักจำงวดแรกวันที่30/10/2558และเริ่มก่อสร้างวันที่5/11/2558สิ้นสัดวันที่31/5/2559วารถนำมาหักได้หรือไม่ค่ะหักได้ทั้งจำนวนไหม??
    รบกวนสอบถามค่ะ

    ตอบลบ
  2. ต้องมีสัญญา ใบสั่งซื้อ ใบสั่งจ้าง หรือข้อตกลงในลักษณะเดียวกัน กับสินทรัพย์ดังต่อไปนี้ ในระหว่างวันที่ 3 พย 58 ถึง 31 ธค 59 เท่านั้นครับ แต่สามารถเป็นค่าเสื่อมราคาตามปกติ ลองดูอ้างอิงประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ตามลิงก์ http://skaccountinginformation.blogspot.com/2016/06/266-1.html

    ตอบลบ
  3. ใบกำกับภาษี 1 ฉบับมีรายการอยู่หลายรายการคะ
    เช่น
    1. คอมพิวเตอร์ ลงบัญชีเป็นอุปกรณ์สำนักงานราคาทุน
    2. เครื่องคิดเลข ลงบัญชีเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหาร
    3. สายไฟ ลงบัญชีเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับคอมพ์
    ในลักษณะนี้สามารถเฉพาะยอดที่เป็นคอมพิวเตอร์ที่เป็นสินทรัพย์แค่อย่างได้ไหมคะ

    ตอบลบ