วันพุธที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2558

วิธีตรวจสอบด้วยตัวเอง ซิมเติมเงิน AIS, dtac, TrueMove H ลงทะเบียนแสดงตนหรือยัง มาดูวิธีกัน!

ตามประกาศ กสทช. ผู้ใช้งานซิมแบบเติมเงิน หรือพรีเพดทุกประเภท นั้นจะต้องลงทะเบียนยืนยันตน ภายในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ – 31 กรกฎาคม 58 ซึ่งหากไม่มาลงทะเบียน ภายในวันที่ 31 กรกฎาคมจะไม่สามารถใช้งานได้ (อ่านข่าวเก่า)
register_operator
วิธีการตรวจสอบด้วยตัวเองว่าซิมเติมเงินที่เราใช้อยู่นั้นลงทะเบียนยืนยันตนหรือยังมาดูวิธีตรวจสอบกันครับ (ข้อมูลอัปเดทวันที่ 22 ม.ค. 58)
AIS 
  • กด *141# โทรออก เพื่อตรวจสอบการลงทะเบียน ก่อนหน้านี้ถ้าใครที่เคยลงทะเบียนอัพเกรดเป็น AIS 3G 2100 แล้วยังไม่ถือว่าเป็นการลงทะเบียนยืนยันแสดงตน ซึ่งตอนนั้นเป็นการลงทะเบียนเพื่อขอย้ายเครือข่ายมาเป็น AIS 3G 2100 เท่านั้น จะต้องลงทะเบียนเพื่อยืนยันตนอีกครั้ง

dtac
  • กด *102# โทรออก เพื่อตรวจสอบการลงทะเบียน 

TrueMove H
  • ยังไม่มีระบบตรวจสอบด้วย USSD สามารถแชทไปสอบถามออนไลน์กับหน้าที่ได้ฟรี โดยการคลิก ที่นี่ , โทรสอบถามเจ้าที่ Call Center 1331 หรือ สอบถามได้ที่ทรูช็อปทั่วประเทศ

my 3G
  • โทรสอบถามได้ที่หมายเลข 02-401-2222 หรือ 1322

TOT 3G 
  • โทรสอบถามได้ที่หมายเลข 1777

เพื่อนๆ คนไหนที่ตรวจสอบแล้วพบว่ายังไม่ได้ลงทะเบียนยืนยันตนอย่าลืมไปลงทะเบียนกันด้วยนะครับ ติดต่อได้ศูนย์บริการของแต่ละเครือข่ายทั่วประเทศ
อัปเดทเพิ่ม my 3G, TOT 3G 

วิธียกเลิก SMS กวนใจและกวนเงินทั้งระบบ AIS, Dtac, True

การเอาเปรียบผู้บริโภคมีมาทุกยุคทุกสมัย ตั้งแต่ระดับใกล้ตัวอย่างสะพานลอย (ยัดพระหรือสติ๊กเกอร์ใส่มือ) ไม่เว้นแม้กระทั่งบริษัทยักษ์ใหญ่ในทุกวงการ ส่วนตัวผมเองไม่เคยเจอกับตัวเหมือนกัน แต่เมื่อปีใหม่ที่ผ่านมาได้ไปต่างจังหวัด ถึงได้ทราบว่ามีญาติผู้ใหญ่โดนหลายคนเหลือเกิน โดยเฉพาะกับคนแก่ !!!
สิ่งที่ผมได้พบเจอก็คือ SMS ขยะทั้งหลายแหล่ (มีทั้งฟรีบ้างแล้วก็เสียตังค์) ที่น่าเห็นใจคือคนแก่หลายๆ คนไม่ทราบถึงวิธีการลบหรือการร้องเรียน บางคนโชคร้ายหน่อยโดนหักเงินทุกเดือนๆ เปรียบเสมือนปลิงที่คอยดูดเลือดอยู่ทุกเดือนๆ
เชื่อว่า “ทุกค่าย” คงพยายามปฏิเสธเสียงแข็งว่าไม่ใช่นโยบายของบริษัท แต่กรณีนี้มันก็ไม่ต่างอะไรกับการ “แจกซิมฟรี” ที่นิยมกันเมื่อหลายปีก่อน (ไม่แน่ใจว่าตอนนี้มีอยู่มั้ย) ที่พยายามยัดเยียดซิมให้กับคนเดินผ่านไปมา ปากบอกว่าฟรีแต่สุดท้ายต่อให้คุณไม่ใช่บริการ “บิลก็มาถึงบ้าน”
การทำอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ที่หลายค่ายเรียกอย่างสวยหรูว่า “ข่าวประชาสัมพันธ์” สร้างความรบกวนผู้ใช้งานไม่ใช่น้อย ลองนึกภาพตามว่าหากคุณซื้อโทรทัศน์มาแล้ววันดีคืนดี คนขายจะสามารถส่งข้อความโฆษณาอะไรมาบนหน้าจอก็ได้ มันแฟร์กับผู้ใช้หรือไม่?

นับภาษาอะไรกับสัญญาณโทรศัพท์มือถือที่เราจ่ายใช้อยู่ทุกเดือน การที่ผู้ให้บริการสามารถยิงโฆษณา (หรือขายข้อมูลลูกค้าต่อให้คู่ค้าส่งโฆษณาให้ลูกค้าแทน) มันเป็นเรื่องยุติธรรมแล้วหรือ? จ่ายค่าบริการให้ทุกเดือน ส่วนลดก็ไม่มีให้แล้วยังต้องอ่านโฆษณาที่เขายัดเยียดให้อีก
ในความโชคร้ายก็ยังมีความโชคดีอยู่
ถึงแม้ว่าจะเป็นหน้าที่แต่ก็คงต้องยกความดีให้กับเขา (มาช้ายังดีกว่าไม่มา) เมื่อปีที่ผ่านมา กสทช. ก็ได้ออกกฎควบคุมบางอย่าง กด *137 ทุกเครือข่าย (ฟรี) เพื่อยกเลิกข้อความโฆษณา ผ่านระบบ IVR โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย (ที่ถูกต้องคือควรจะยกเลิกให้กับลูกค้าทุกคน แล้วถ้าใครอยากได้ข้อความพวกนี้ให้ไปลงทะเบียนเองที่ศูนย์บริการจะดีกว่า)
นอกจากนี้ก็ยังมีช่องทางอื่นเพิ่มเติมอีก (เผื่อวิธีแรกไม่ได้ผล) อย่างของ Dtac สามารถโทรไปที่ Call Center 1678 หรือของ True ก็สามารถอีเมล์ไปที่ intelligence@truecorp.co.th ได้เช่นกันครับ
… สุดท้าย …
ผมเชื่อว่าวิธีนี้หลายคนคงทราบดีแล้ว แต่ก็เชื่อว่ายังมีอีกเกินครึ่งประเทศที่ยังไม่ทราบ อย่าลืมตรวจสอบเครื่องของญาติพี่น้องของคุณด้วยนะครับ ว่ามี SMS เข้ามาเยอะผิดปกติหรือเปล่า? เรื่องกลัวจะพลาดสิทธิประโยชน์บ้าบออะไรไม่ต้องใส่ใจหรอกครับ เพราะสิ่งเหล่านี้มัน “ไม่มีอยู่จริง”

วันอังคารที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2558

คนค้าขายบางคน บางเจ้า ขายดีจนเจ๊ง... (สาเหตุเกิดจากอะไรลองอ่านดูครับ)

เติมใจ ใส่ธุรกิจพลชัย เพชรปลอด : อาจารย์พิเศษ ม.ศิลปากร, อดีตผู้บริหารการตลาด กลุ่มธนบุรีประกอบรถยนต์

คนค้าขายบางคน บางเจ้า ขายดีจนเจ๊ง...
ไม่ได้ผิดหรอกครับ ผมหมายความอย่างนั้นจริงๆ ขายดี...จนกระทั่งธุรกิจเจ๊ง แล้วต้องปิดตัวลงแบบเจ้าตัวยังงงๆ กับชีวิตว่าเกิดอะไรขึ้น

เหตุการณ์เช่นนี้ มักเกิดขึ้นกับ SMEs ในบ้านเรา ที่เริ่มต้นเติบโตมาจากระบบเจ้าของคนเดียว มีความเชี่ยวชาญในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เอาความเชี่ยวชาญนั้นมาทำธุรกิจ จนประสบความสำเร็จ เจริญก้าวหน้า มีลูกค้ามากมาย

แต่อยู่ๆ ก็เกิดอาการซวนเซ แล้วเจ๊งไปซะง่ายๆ มีเพื่อนรายหนึ่ง อยู่ในอาการที่ว่ามานี้ โชคดีที่มาถามก่อนเจ๊ง เพื่อนมาถามผมว่าเกิดอะไรขึ้น ทั้งๆ ที่ธุรกิจไปได้ดี ลูกค้ามากมาย ยอดขายแต่ละวัน...นับเงินเมื่อยมือ แต่ต้องไปกู้หนี้ยืมสินมาใช้ในธุรกิจ เหมือนเติมไม่เต็ม ตลอดหลายปีที่ทำธุรกิจมา

ผมเริ่มต้นจากคำถามง่ายๆ ว่า "เป็นเจ้าของกิจการมีเงินเดือน เดือนละเท่าไหร่?"

เงียบ...แทนคำตอบ ก่อนที่จะถามกลับมาว่า ทำไมต้องมีเงินเดือน ในเมื่อเป็นเจ้าของอยู่แล้ว

ผมถามคำถามที่สอง "แล้วเจ้าของใช้เงิน เดือนละเท่าไหร่?"

ลังเลนิดหนึ่ง ก่อนจะตอบว่า ไม่รู้ว่าเดือนละเท่าไหร่ เพราะจะใช้อะไรก็หยิบไปจากลิ้นชัก ไม่ได้จดไว้ว่าเท่าไหร่ อาศัยว่าถ้าเงินพอก็หยิบไปได้ ถ้าไม่พอ ก็รอให้เงินพอก่อน แล้วค่อยหยิบ

ผมถามคำถามที่สาม "เงินที่หยิบจากลิ้นชักไป เอาไปซื้ออะไรบ้าง"
คราวนี้สาธยายยาวเหยียด...ก็ซื้อทุกอย่าง กินข้าว ซื้อของเข้าบ้าน เลี้ยงสังสรรค์ ผ่อนรถ...ฯลฯ

ผมสรุป..."นั่นแหละสาเหตุ"

คนทำธุรกิจแบบโตมากับมือ ส่วนใหญ่เป็นแบบเพื่อนผมนี่แหละครับ ไม่เคยตั้งเงินเดือนให้ตัวเอง ไม่เคยจดว่าใช้เงินไปเท่าไหร่ และใช้ไปกับเรื่องอะไร ทั้งหลายทั้งปวงสรุปได้ 3 สาเหตุใหญ่ คือ

สาเหตุประการแรก ไม่แยกแยะเงินของธุรกิจออกจากเงินส่วนตัว การที่ไม่ตั้งเงินเดือนให้ตัวเอง เพราะคิดว่าตัวเองคือเจ้าของธุรกิจ และเป็นเจ้าของเงินทั้งหมดอยู่แล้ว จะใช้อย่างไรก็ได้ นั่นคือแนวคิดเริ่มต้นที่ผิด เพราะต้องมองให้ธุรกิจเป็นเหมือนบุคคลอีกคนหนึ่ง ที่เรารับจ้างทำงานให้อยู่

เวลาเราจ้างลูกจ้าง จ่ายเงินเดือนชัดเจน ใช้เกินกว่านั้นไม่ได้ แต่ตัวเราซึ่งรับจ้างธุรกิจที่เราก่อตั้งขึ้นมา กลับใช้เงินได้ไม่จำกัด ซึ่งส่งผลทำให้เงินที่เป็นค่าใช้จ่ายด้านเงินเดือนไม่คงที่ในแต่ละเดือน ขึ้นอยู่กับเราจะเมามันหยิบมาใช้มากน้อยแค่ไหน

ดังนั้น ต้องตั้งเงินเดือนให้ตัวเอง แล้วจ่ายเงินเดือนเมื่อสิ้นเดือนเหมือนพนักงานคนอื่นๆ แล้วต้องใช้เงินแค่นั้น ห้ามเกิน ถ้าเกิน ก็ห้ามหยิบมาจากลิ้นชักอีก ต้องไปหายืมคนอื่นเอาเอง ห้ามยืมจากลิ้นชัก ถ้าจะยืมจากลิ้นชักจริงๆ ก็ต้องจด แล้วนำมาคืนอย่างเคร่งครัด

สาเหตุประการที่สอง ไม่ทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย เมื่อจ่ายเงินเดือนให้ตัวเองมาแล้ว ควรจะทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย ให้ตัวเองด้วย คร่าวๆ ก็ได้ เอาพอรู้ว่า แต่ละวันจ่ายอะไรไปเท่าไหร่ เหลือเงินใช้ได้อีกเท่าไหร่ ไม่ใช่ใช้สนุกมือไปเรื่อย เพราะเห็นว่าธุรกิจขายดี

ถ้าคิดว่าขายดี และเงินเดือนที่ตั้งให้ตัวเองไม่พอใช้ ขึ้นเงินเดือนให้ตัวเองซะ จะขึ้นเท่าไหร่ไม่มีใครว่า แต่ควรเป็นตัวเลขที่มีเหตุผล และไม่ทำให้กระทบกับรายรับของธุรกิจ จะรู้ได้อย่างไรว่าไม่กระทบ ต้องทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายของธุรกิจด้วย อันนี้ถ้าไม่ทำ...แย่เลยนะ ของส่วนตัวขี้เกียจทำ ใช้ระบบนับเงินที่เหลือในกระเป๋ายังพอได้ แต่ของธุรกิจ ไม่ทำบัญชี เดี๋ยวจะรวยแบบไม่รู้เรื่อง และเจ๊งแบบไม่รู้เรื่องเช่นกัน

สาเหตุประการที่สาม ใช้เงินผิดประเภท เพื่อนผมเอาเงินที่หยิบจากลิ้นชักไปซื้อข้าวกิน ไปเลี้ยงสังสรรค์ ไปซื้อของใช้เข้าบ้าน ไปผ่อนรถ...ฟังดูแล้ว ล้วนแต่เป็นเรื่องส่วนตัวทั้งสิ้น เรื่องส่วนตัวต้องใช้เงินส่วนตัว คือเงินเดือนของตัวเอง แต่เงินของธุรกิจ ควรจะจ่ายในสิ่งที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ เช่น ชำระหนี้การค้า ซื้อวัตถุดิบ จ่ายเงินเดือน ค่าจ้าง ฯลฯ อะไรก็ได้ ที่เกี่ยวกับธุรกิจ

ตอนที่รับเงินจากลูกค้า ในเงินแต่ละก้อนที่ได้รับ ประกอบด้วย ต้นทุนของสินค้า ต้นทุนค่าดำเนินการ และกำไร อยู่ในนั้น แต่เวลาที่เราหยิบออกมาจ่าย เรากลับมองว่าวันนี้รับมาเท่าไหร่ โดยมองว่าเป็นรายรับล้วนๆ ไม่คิดจะแยกทุนแยกกำไรกันเลย พอเอาไปใช้ผิดประเภท เท่ากับว่าได้ใช้ทั้งกำไรและต้นทุนไปทั้งหมด ก็จะอยู่ในอาการ "ทุนหด...กำไรไม่เหลือ"

อีกรายเป็นญาติของเพื่อน ขายไก่ย่าง ขายดิบขายดี เลี้ยงไก่เองด้วย เรียกว่าครบวงจร ขายดีจนย่างแทบไม่ทัน ออกมาเท่าไหร่ ขายหมด ขายจนเหนื่อย แต่ที่เหนื่อยกว่าคือ ขายไปพักใหญ่ ทำไมทุนหายกำไรหด ทุนหมดกำไรไม่เหลือ

สาเหตุหลักไม่หนีกรณีเพื่อนผมครับ คือ 3 สาเหตุหลักนั้น เหมือนกันทุกประการ ไม่มีการตั้งเงินเดือนของคนทำงานแต่ละคน แต่รายนี้มีคนทำหลายคน ทำกันทั้งครอบครัว ไม่มีการทำบัญชีรับ-จ่าย เอาเงินไปใช้ผิดประเภท...ครบเครื่องเลย

แต่สิ่งที่น่าใช้เป็นกรณีศึกษาเพิ่มเติมคือ รายนี้มีลักษณะของ 2 ธุรกิจ ที่เชื่อมโยงกันอยู่ อันหนึ่งเป็นเสมือนโรงงานผลิตวัตถุดิบ คือส่วนที่เป็นโรงเลี้ยงไก่ ที่มีลักษณะของธุรกิจแบบหนึ่ง อีกส่วนเป็นหน้าร้าน ที่นำวัตถุดิบมาแปรรูปเป็นไก่ย่างจำหน่าย ลักษณะของธุรกิจแตกต่างกันกับโรงเลี้ยง

ถ้าคิดแบบไม่ซับซ้อน ให้เห็นภาพเข้าใจง่าย คิดเสียว่า ถ้าต้องไปซื้อไก่จากตลาดมาย่างขาย จะต้องจ่ายเงินค่าไก่ให้แม่ค้าอย่างไร ส่วนใหญ่ต้องจ่ายสดเป็นรายวัน ถ้าซื้อเยอะ เครดิตดีหน่อย อาจได้เครดิตในระยะสั้นๆ วัน สองวัน

เช่นเดียวกัน ไก่ที่มาจากโรงเลี้ยงของเราเอง ก็ต้องจ่ายเงินสดให้เป็นรายวัน แม้เจ้าของจะคนเดียวกัน ก็ต้องแยกกระเป๋าเงินออกจากกัน กระเป๋านี้สำหรับโรงเลี้ยงไก่โดยเฉพาะ อีกกระเป๋าสำหรับร้านไก่ย่าง

ยิ่งถ้าเป็นผัวเมียช่วยกันทำ น่าจะแยกให้ผัวเป็นซีอีโอของโรงเลี้ยงไก่ แล้วเมียเป็นซีอีโอของร้านไก่ย่าง ผัวก็รับเงินเดือนของโรงเลี้ยงไก่ไป ถ้าไปช่วยย่างไก่ด้วย ก็รับเงินอีกส่วนจากร้านไก่ย่าง เรียกว่าได้ค่าจ้างจาก 2 แหล่ง เพราะทำงาน 2 ที่ ขณะที่เมียย่างไก่อย่างเดียว ก็รับเงินเดือนที่เดียว ห้ามมายุ่งกับเงินของโรงเลี้ยงไก่

การแบ่งแยกให้เกิดความชัดเจนเช่นนี้ จะทำให้การบริหารจัดการธุรกิจทำได้ง่ายขึ้น ถ้าพบว่าส่วนของโรงเลี้ยงไก่ไม่ทำเงิน เลี้ยงตัวเองไม่ได้ ก็ไม่ต้องแบกภาระ ยุบทิ้งไปซะ แล้วซื้อไก่จากตลาดมาทำไก่ย่างต่อไปได้ หรือถ้าธุรกิจไก่ย่างไม่ดี ก็เลี้ยงไก่อย่างเดียว เอาไปส่งขายคนอื่นแทน

แต่กรณีของญาติเพื่อนนี้ เงินที่ขายไก่ย่างได้ถูกเก็บเข้ากระเป๋าทั้งหมด เอาไปใช้ซื้อของตามใจชอบ เพราะได้เงินเยอะเกินคาด...ไม่ใช่เกินคาดหรอกครับ เพียงแต่เงินที่ได้มา มีมูลค่าจากการขายไก่ย่างปะปนกับต้นทุนของไก่จากโรงเลี้ยง เลยดูว่าเงินเหลือเฟือ

แล้วก็ต้องหาเงินมาเติมใส่โรงเลี้ยงไก่ไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นยอดหนี้ที่ฝั่งโรงเลี้ยง แต่ฝั่งของหน้าร้านเงินสะพัด ใช้จ่ายกันได้มันมือ

จากกรณีศึกษาทั้งคู่นี้ ทำให้เห็นชัดเจนว่า อย่ารีบดีใจว่าขายได้เงินเยอะ ตราบใดที่ยังไม่ได้ทำบัญชีรับ-จ่าย ให้ชัดเจน ยังไม่ได้ตั้งเงินเดือนให้คนช่วยทำงานทุกคนอย่างชัดเจน บางคนอาจได้ค่าจ้างรายวัน บางคนรายสัปดาห์ บางคนรายเดือน บางคนเหมางานเป็นครั้ง ไม่แปลกที่จะมีวิธีจ่ายค่าจ้างแบบหลากหลาย แต่ต้องมีความชัดเจนว่าจะจ่ายคนละเท่าไหร่ แล้วห้ามมาหยิบเงินจากการขายไปใช้โดยพลการ

ไม่เช่นนั้น ท่านอาจหนีไม่พ้นสถานการณ์ ขายดี...จนเจ๊ง...

แหล่งอ้างอิงนะครับ
http://info.matichon.co.th/rich/rich.php?srctag=07078150255&srcday=&search=no

วันศุกร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2558

ร่างตัวอย่างสัญญาเช่า อ้างอิง ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.74/2541 เพื่อไม่ให้ถือเงินมัดจำเป็นรายได้

คำสั่งกรมสรรพากร
ที่ ป. 74/2541
การเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับการเรียกเก็บเงินจ่ายล่วงหน้า เงินประกัน เงินมัดจำ หรือเงินจองล่วงหน้า

“(ก) การคำนวณรายได้ และรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งประกอบกิจการให้เช่าทรัพย์สิน บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น ต้องนำรายได้ที่เรียกเก็บหรือพึงเรียกเก็บในลักษณะเป็นเงินก้อนเพื่อตอบแทนการให้เช่าทรัพย์สินทั้งจำนวน ไม่ว่าจะเรียกเก็บในลักษณะเงินจ่ายล่วงหน้า เงินประกัน เงินมัดจำ เงินจอง หรือเงินอื่นที่เรียกเก็บในลักษณะทำนองเดียวกัน มารวมคำนวณเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มให้เช่าทรัพย์สิน หรือจะนำรายได้นั้นมาเฉลี่ยตามส่วนแห่งจำนวนปีตามสัญญา และนำมารวมคำนวณเป็นรายได้ในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีนับแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มให้เช่าทรัพย์สินก็ได้

                       ในกรณีการให้บริการอื่นซึ่งเป็นบริการตามสัญญาระยะยาว ต้องนำรายได้ที่เรียกเก็บหรือพึงเรียกเก็บในลักษณะเป็นเงินก้อนเพื่อตอบแทนการให้บริการทั้งจำนวน ไม่ว่ารายได้นั้นจะเกิดจากการผ่อนชำระหรือชำระครั้งเดียว และไม่ว่าจะเรียกเก็บในลักษณะเงินจ่ายล่วงหน้า เงินประกัน เงินมัดจำ เงินจอง หรือเงินอื่นที่เรียกเก็บในลักษณะทำนองเดียวกันมารวมคำนวณเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มให้บริการหรือจะนำรายได้นั้นมาเฉลี่ยตามส่วนแห่งจำนวนปีตามสัญญาแต่ไม่เกินสิบปี และนำมารวมคำนวณเป็นรายได้ในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีนับแต่ปีทิ่เริ่มให้บริการก็ได้

                       ในกรณีการให้เช่าทรัพย์สินหรือให้บริการได้กระทำในระหว่างรอบระยะเวลาบัญชีหรือสัญญาการให้เช่าทรัพย์สินหรือให้บริการเป็นสัญญาสิ้นสุดในระหว่างรอบระยะเวลาบัญชี ให้เฉลี่ยเงินรายได้ตามส่วนของเดือนหรือจำนวนวันที่ให้เช่าหรือให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น”


หนังสือสัญญาเช่า…………………………………
ทำที่ …………………………….……………...…………………………………………….
วันที่ ……………………………………………
                สัญญาเช่าฉบับนี้ ทำขึ้น ระหว่าง …………………………………….……โดย………………………………………....
………………………………………………………………………..อยู่เลขที่……………………………….……………………
…………………………………………………………ซึ่งต่อไปนี้ในสัญญานี้เรียกว่า “ผู้เช่า” ฝ่ายหนึ่งกับ…………………….…
………………………………..ตั้งอยู่เลขที่ ……………………………………………………………..…………………………
…………………………………….สัญญาฉบับนี้เรียกว่า “ผู้ให้เช่า” อีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งสองได้ตกลงทำสัญญาเช่ากัน มีข้อความดังนี้
ข้อ 1.      ทรัพย์สินที่เช่า
“ผู้ให้เช่า” ตกลงให้เช่า และ “ผู้เช่า” ตกลงเช่า รายละเอียดของทรัพย์สินที่เช่าคือ
………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………
ข้อ 2.      ระยะเวลาการเช่า
                กำหนดระยะเวลาการเช่า ……..  เดือน นับตั้งแต่วันที่ ………………………………………………………
ข้อ 3.      อัตราค่าเช่าทรัพย์สิน
ผู้เช่าตกลงเช่าทรัพย์สินตามที่ระบุไว้ในข้อ 1 ในอัตราค่าเช่า …..…….บาท ( ..................................................) ต่อเดือน ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม
ข้อ 4.      เงินมัดจำตามสัญญาเช่า
ผู้เช่าตกลงจ่ายเงินมัดจำตามสัญญาเช่าฉบับนี้ เป็นจำนวนเงินล่วงหน้าเท่ากับค่าเช่าจำนวน .............. เดือนตามที่ระบุไว้ในข้อ 1 ในอัตราค่าเช่าข้อ 3 คิดเป็นจำนวนเงิน …..…….บาท ( ..................................................) เงินมัดจำนี้จะคืนให้ทันทีที่สัญญาสิ้นสุดลงโดยไม่มีเงื่อนไข แต่กรณีเสียหาย ผู้ให้เช่ามีสิทธิหักกลบหนี้ได้
ข้อ 5.      การชำระค่าเช่า
“ผู้เช่า” จะตกลงชำระเงินค่าเช่าให้แก่ “ผู้ให้เช่า” เป็นงวด ๆ ละ..... เดือน ภายใน 7 วัน นับจากวันที่เริ่มเช่า หาก “ผู้เช่า” ค้างชำระค่าเช่าติดต่อกันเป็นเวลา 1 เดือน ขึ้นไป และ “ผู้ให้เช่า” ได้ทวงถามแล้วแต่ “ผู้เช่า” ยังคงไม่ชำระค่าเช่า ให้ถือว่าสัญญาเช่านี้ระงับสิ้นลง และ “ผู้เช่า” จะส่งมอบทรัพย์สินให้  “ผู้ให้เช่า” ทันที
ข้อ 6.      การเก็บรักษา การใช้ประโยชน์ทรัพย์สินที่เช่า
 “ผู้เช่า” จะต้องเก็บรักษาทรัพย์สินที่เช่าไว้ในสถานที่ปลอดภัย และจะแจ้งสถานที่เก็บรักษาทรัพย์สินให้ “ผู้ให้เช่า” ทราบ
 “ผู้เช่า” ให้สัญญาว่าจะไม่นำทรัพย์สินที่เช่าไปให้บุคคลอื่นเช่าช่วง “ผู้เช่า” จะต้องไม่นำทรัพย์สินที่เช่าไปใช้ในทางที่ผิดกฎหมาย
ข้อ 7.      การตรวจตราทรัพย์สินที่เช่า
“ผู้เช่า” ต้องยินยอมให้ “ผู้ให้เช่า” หรือตัวแทนของ “ผู้ให้เช่า” เข้าตรวจตราทรัพย์สินที่เช่าได้เป็นครั้งคราวในเวลาและระยะเวลาอันสมควร
ข้อ 8.      การเปลี่ยนแปลงหรือดัดแปลงทรัพย์สินที่เช่า
“ผู้เช่า” ให้สัญญาว่าจะไม่ทำการเปลี่ยนแปลง หรือ ดัดแปลง หรือ ต่อเติมอย่างหนึ่งอย่างใด ต่อทรัพย์สินที่เช่า เว้นแต่จะได้รับความยินยอมล่วงหน้าจาก “ผู้ให้เช่า” เป็นลายลักษณ์อักษร กรณีสิ่งของที่ติดตั้งและยึดเข้ากับทรัพย์สินจะถือเป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์สินโดยทันที
ข้อ 9.     การซ่อมบำรุงรักษา
                ผู้เช่าเป็นผู้รับผิดชอบจนคงสภาพเดิม
ข้อ 10.   การประกันภัยทรัพย์สิน
                “ผู้เช่า” เป็นผู้ดำเนินการและออกค่าใช้จ่ายในการจัดทำประกันภัยทรัพย์สิน
ข้อ 11.   การจดและต่อภาษีทรัพย์สิน
“ผู้เช่า” เป็นผู้ดำเนินการและออกค่าใช้จ่าย จดทะเบียน หรือต่อทะเบียนประจำปี ตามระเบียบของทางราชการกำหนด
ข้อ 12.    การสิ้นสุดสัญญาเช่า
                สัญญาเช่าจะสิ้นสุดลงโดยเหตุต่อไปนี้ ครบกำหนดระยะเวลาการเช่าตามที่ระบุไว้ในข้อ 2. หรือ เมื่อ “ผู้ให้เช่า” และ “ผู้เช่า” ตกลงสิ้นสุดหรือยกเลิกสัญญาเช่าโดยทำข้อตกลงกันขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษร โดยแจ้งล่วงหน้า 30 วัน
ข้อ 13.    การประพฤติผิดสัญญาเช่า
ถ้า “ผู้เช่า” ประพฤติผิดสัญญาเช่า แม้ข้อหนึ่งข้อใดดังกล่าวข้างต้น “ผู้ให้เช่า” มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าและ “ผู้เช่า” ยินยอมให้  “ผู้ให้เช่า” ทรงไว้ซึ่งสิทธิที่จะเข้าครอบครองทรัพย์สินที่เช่าทันที และ “ผู้เช่า” ต้องรับผิดชอบ ค่าเสียหายทั้งหมดที่จะพึงเกิดขึ้นตามข้อ 12 ใน ทำนองกลับกันหาก “ผู้ให้เช่า” เป็นฝ่ายผิดสัญญา และ “ผู้เช่า” ได้เรียกให้แก้ไขหรือปฏิบัติตามสัญญาแล้ว แต่ “ผู้ให้เช่า” ไม่ปฏิบัติตาม “ผู้เช่า” เป็นฝ่ายผิดสัญญา และ “ผู้เช่า” มีสิทธิบอกเลิกสัญญาโดยไม่ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายหรือค่าเช่าใด ๆ ทั้งสิ้น และมีสิทธิที่จะเรียกร้องค่าเสียหายในส่วนที่ “ผู้เช่า” กระทำจากการผิดสัญญา
ข้อ 14.    การพิพาทหรือโต้แย้ง
หากกรณีมีข้อพิพาทหรือข้อโต้แย้งเกิดขึ้น อันเกี่ยวเนื่องด้วยการผิดสัญญาเช่าฉบับนี้คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายตกลง จะใช้กฎหมายไทย และ นำคดีขึ้นสู่ศาลแพ่งกรุงเทพมหานคร

สัญญาเช่านี้ ทำขึ้นเป็นสองฉบับมีข้อความถูกต้องเป็นอย่างเดียวกัน ทั้งสองฝ่ายได้อ่านและเข้าใจข้อความในสัญญานี้ โดยตลอดแล้ว จึงได้ลงลายมือชื่อต่อหน้าพยานไว้เป็นสำคัญ และต่างยึดถือไว้ฝ่ายละหนึ่งฉบับ



ลงชื่อ……………………………………..ผู้ให้เช่า   ลงชื่อ……………………..…………………..ผู้เช่า
    (…………………………………………)             (…………..........…………………………….)



ลงชื่อ……………………..…………………..พยาน               ลงชื่อ……………………..…………..พยาน
       (………………………………………….)                       (……………………………………..)


วันพุธที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2558

บริษัทจ่ายปันผลโดยใช้เครดิตภาษีจากส่วนแบ่งกำไรของบริษัทในเครือ เพื่อเครดิตภาษีให้กับผู้ถือหุ้น

เลขที่หนังสือ: กค 0706/2156 
วันที่: 14 มีนาคม 2549 
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการได้รับเครดิตภาษีเงินปันผล

ข้อกฎหมาย
: มาตรา 47 ทวิ และมาตรา 50(2)(จ) แห่งประมวลรัษฎากร

ข้อหารือ
:          บริษัท ป. เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยประกอบกิจการลงทุนในบริษัทต่างๆ (Holding Company) โดยบริษัทฯ ถือหุ้นในบริษัทในเครือไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียง และในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2548 บริษัทฯ ได้รับเงินปันผลจากบริษัทในเครือซึ่งผ่านการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลแล้ว จำนวน 100 ล้านบาท เงินปันผลที่บริษัทฯ ได้รับนี้เป็นรายได้ที่บริษัทฯ ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 ทวิ (10) แห่งประมวลรัษฎากร ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2548 บริษัทฯ มีกำไรจากการประกอบกิจการของบริษัทฯ จำนวน 50 ล้านบาท แต่มีผลขาดทุนสุทธิทางภาษียกมาไม่เกิน 5 รอบระยะเวลาบัญช ี จำนวน 70 ล้านบาท ทำให้บริษัทฯ ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ มีมติประกาศจ่ายเงินปันผลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2548 ให้แก่ผู้ถือหุ้น โดยจ่ายจากกำไรสุทธิทางบัญชี (แต่ทางภาษีอากรขาดทุนสุทธิ) จำนวน 150 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยเงินปันผลที่บริษัทฯ ได้รับจากบริษัทในเครือเดียวกัน จำนวน 100 ล้านบาท และกำไรจากการประกอบกิจการของบริษัทฯ จำนวน 50 ล้านบาท บริษัทฯ จึงขอทราบว่า

           1. กรณีบริษัทฯ จ่ายเงินปันผลที่ได้รับมาจากบริษัทในเครือ จำนวน 100 ล้านบาท ให้แก่ผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา ผู้ถือหุ้นดังกล่าวมีสิทธิได้รับเครดิตภาษีเงินปันผลตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร หรือไม่

           2. กรณีบริษัทฯ จ่ายเงินปันผลจากกำไรจากการประกอบกิจการ จำนวน 50 ล้านบาท ให้แก่ผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา ผู้ถือหุ้นดังกล่าวไม่มีสิทธิได้รับเครดิตภาษีเงินปันผล เพราะกำไรที่นำมาจ่ายเงินปันผลยังไม่ผ่านการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล เนื่องจากถูกหักด้วยผลขาดทุนสุทธิใช่หรือไม่

           3. กรณีบริษัทฯ จ่ายเงินปันผลจากเงินปันผลที่ได้รับจากบริษัทในเครือ ไม่ว่าจะได้รับมาหลายทอดก็ตามให้แก่ผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา หากบริษัทฯ สามารถพิสูจน์ได้ว่า เงินปันผลดังกล่าวเข้าลักษณะเหตุผลตาม 1 ผู้ถือหุ้นดังกล่าวมีสิทธิได้รับเครดิตภาษีเงินปันผลใช่หรือไม่

           4. กรณีบริษัทฯ จ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 10.0 ของเงินปันผลที่ผู้ถือหุ้นได้รับใช่หรือไม่
แนววินิจฉัย

:            1. กรณีบริษัทฯ จ่ายเงินปันผลที่ได้รับจากบริษัทในเครือ ซึ่งเงินปันผลดังกล่าว บริษัทฯ ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 ทวิ (10) แห่งประมวลรัษฎากร แต่เงินปันผลดังกล่าวบริษัทในเครือได้จ่ายจากกำไรที่ผ่านการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลก่อนแล้ว ดังนั้น เมื่อบริษัทฯ จ่ายเงินปันผลจากจำนวนเงินปันผลที่บริษัทฯ ได้รับมาจากบริษัทในเครือให้แก่ผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา ผู้ถือหุ้นดังกล่าวมีสิทธิได้รับเครดิตภาษีเงินปันผลตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร

           2. กรณีบริษัทฯ จ่ายเงินปันผลจากกำไรสุทธิทางบัญชี ซึ่งเงินปันผลดังกล่าวยังไม่ได้ผ่านการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากการประกอบกิจการ จำนวน 50 ล้านบาท เพราะบริษัทฯ ได้นำผลขาดทุนสุทธิยกมาไม่เกิน 5 ปีก่อนรอบระยะเวลาบัญชีปี 2548 มาหัก ดังนั้น เงินปันผลที่ผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาได้รับจากบริษัทฯ จึงไม่ได้รับเครดิตภาษีเงินปันผลตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร

           3. กรณีบริษัทฯ จ่ายเงินปันผลจากเงินปันผลที่บริษัทฯ ได้รับจากบริษัทในเครือไม่ว่าจะได้รับมากี่ทอดก็ตามให้แก่ผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา หากบริษัทในเครือได้จ่ายเงินปันผลจากกำไรที่ได้มีการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลไปก่อนแล้ว และบริษัทฯ ทราบโดยชัดแจ้งว่า เงินปันผลจากกำไรสุทธิที่บริษัทฯ ได้รับมาจากบริษัทในเครือได้มีการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลไปก่อนแล้วในอัตราเท่าใด เมื่อบริษัทฯ จ่ายเงินปันผลจากกำไรสุทธิที่คำนวณได้จากเงินปันผลที่ได้รับมาจากบริษัทในเครือโดยระบุในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย อย่างชัดเจนว่า เงินปันผลที่จ่ายนั้น จำนวนใดมาจากเงินปันผลที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราเท่าใดให้แก่ผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา ผู้ถือหุ้นดังกล่าวย่อมมีสิทธิได้รับเครดิตภาษีเงินปันผลตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร

           4. กรณีบริษัทฯ จ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 10 ของเงินปันผลที่ผู้ถือหุ้นได้รับตามมาตรา 50(2)(จ) แห่งประมวลรัษฎากร

เลขตู้



: 69/33977

บริษัท เอส.เค.แอคเคาน์ติ้งอินฟอร์เมชั่น จำกัด โทร 02-575-3007-8
รับจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วน บริษัท บุุคคลธรรมดา
รับวางระบบบัญชีด้วยโปรแกรมบัญชี Express
รับวางแผนภาษี และเคลียภาษีสรรพากร
ตรวจสอบ ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับธุรกิจที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน (BOI-Business)
รับแก้ไขปัญหาคดีรับหมายเรียกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ฐานความผิดไม่ยื่นงบการเงิน
หรือส่งงบการเงินล่าช้า เกินกำหนดดังกล่าว โดยประหยัดและถูกต้อง

ทีมา:- จดหมายตอบข้อหารือกรมสรรพากร

85/151 ถนนแจ้งวัฒนะ 27  ตำบลคลองเกลือ
อำเภอปากเกร็ด นนทบุรี 11120
โทรศัพท์ 02-575-3007 โทรสาร 02-575-3008
ดำเนินการโดย
นักบัญชีรับอนุญาต จากกระทรวงพาณิชย์และสภาวิชาชีพบัญชี
http://prakkretaccounting.blogspot.com/2011/06/blog-post_15.html

วันอังคารที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2558

ภาระภาษีมูลค่าเพิ่มลูกหนี้การให้บริการ ต่อมามีการตัดหนี้สูญต้องชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม

ที่มา Fanpages :-สุเทพ พงษ์พิทักษ์

คุณ Sky Fall Sawi ได้เขียนไปในไทม์ไลน์ “สุเทพ พงษ์พิทักษ์” เมื่อ 21 พฤศจิกายน 2557 เวลา 14:56 น. ว่า
“เรียนถาม ครูสุเทพที่เคารพ
โจทย์...บริษัท KKK จำกัด ประกอบกิจการรับจ้างตกแต่งภายในพร้อมสัมภาระ ให้กับบริษัท สวยสวยจำกัด โดยได้มีการทำงานเสร็จเรียบร้อยแล้ว ขอเรียนถามว่า
1. จุดรับผิดภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น โดยจะต้องออกใบกำกับภาษีขายเมื่อส่งมอบงานที่เสร็จแล้วหรือเมื่อได้รับชำระเงิน
2. กรณีออกใบกำกับภาษีขายเมื่อได้รับเงินเท่านั้น หากลูกค้าไม่จ่ายเงิน และบริษัทฯ ตัดเป็นหนี้สูญเองซึ่งไม่เป็นไปตามกฎกระทรวง 186 ในเดือนธันวาคม 2556 ถามว่าบริษัท KKK จำกัด ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่
ขอบพระคุณล่วงหน้าครับ”

เรียน คุณ Sky Fall Sawi
ต่อข้อถาม ขอเรียนว่า
1. การประกอบกิจการรับจ้างตกแต่งภายในพร้อมสัมภาระ ถือเป็นการให้บริการ ซึ่งความรับผิดเกิดขึ้นเมื่อรับชำระราคาค่าบริการ หรือเมื่อออกใบกำกับภาษี
2. การให้บริการที่มีค่าตอบแทนหรือค่าบริการเป้น “เงินเชื่อ” ที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนยังไม่ได้ออกใบกำกับษี หากภายหลังมีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขเป็นการให้บริการที่ไม่มีค่าตอบแทน เพราะเหตุดังต่อไปนี้ ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีความรับผิดในอันที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการให้บริการ ณ จุดที่มีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขนั้น
(1) เมื่อตัดหนี้สูญออกจากบัญชีลูกหนี้
(2) เมื่อเลิกกิจการ
ทั้งนี้ เนื่องจากเงื่อนไขในการรับชำระราคาค่าบริการให้หมดสิ้นไปแล้ว เมื่อผู้ประกอบการจดทะเบียนได้เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขดังกล่าว จึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามหลัก “การบริโภค” (Consumption Type of VAT)

  • Tuk Venus ถ้าหากตั้งสำรองเผื่อหนี้สูญ เพราะลูกค้าไม่จ่ายเกิน180วัน ไม่ต้องนำส่งvatใช่มั้ยคะ

  • หมายเหตุ นำมาเพื่อใช้เป็นการอ้างอิงเท่านั้น ท่านอาจารย์สุเทพ พงษ์พิทักษ์ 
  • ไม่มีความเกี่ยวข้องใดกับสำนักงานบัญชี นะครับ




วันจันทร์ที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2558

ภาษีคณะบุคคล โดย ครูสุเทพ พงษ์พิทักษ์

ที่มา Fanpages :- ครูสุเทพ พงษ์พิทักษ์
ย้ำกันอีกครั้งว่า มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร เกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ตั้งแต่วันขึ้นปีใหม่ 2558 หรือวันที่ 1 มกราคม ที่ผ่านมา ดังนี้

1. การกำหนดนิยามศัพท์คำว่า “คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล” ในมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร โดยให้หมายความว่า “บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปตกลงกระทำการร่วมกัน อันมิใช่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ” เพื่อแยกแยะการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของการกระทำกิจการร่วมกันของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปที่เคยเหมือกันของ “คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล” และ “ห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล” ออกต่างหากจากกันโดยเด็ดขาด ดังนั้น แม้จะได้ชื่อว่า “คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล” หากมีวัตถุประสงค์ที่จะแบ่งปันผลกำไรอันเกิดจากการประกอบกิจการร่วมกัน ก็ย่อมถือเป็น “ห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล” 
2. หากประกอบกิจการในรูปของ “ห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล” ต้องเป็นกรณีที่มีวัตถุประสงค์ที่จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทำนั้น แต่หากประกอบกิจการในรูปของ “คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล” ต้องต้องเป็นกรณีที่มีวัตถุประสงค์ที่จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทำนั้น
3. นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 ไม่ว่าจะใช้ชื่อว่า “ห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล” หรือจะได้ชื่อว่า “คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล” ก็ตามหากมีวัตถุประสงค์ที่จะแบ่งปันผลกำไรอันเกิดจากการประกอบกิจการร่วมกัน ก็ย่อมต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในฐานะ “ห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล” ในชั้นที่หนึ่งก่อน และเมื่อมีการแบ่งปันผลกำไรอันเกิดจากการประกอบกิจการดังกล่าว เมื่อใด ผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนที่มิใช่นิติบุคคลนั้น ต้องนำเงินส่วนแบ่งของกำไรดังกล่าวไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอีกครั้งหนึ่ง เพราะได้ยกเลิกการยกเว้นเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้จากห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลตามมาตรา 42 (14) แห่งประมวลรัษฎากรแล้วตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 ดังกล่าว
4. สมมติ ในปี พ.ศ. 2557 ห้างหุ้นส่วนสามัญ ก. ข. มีเงินได้พึงประเมินจากประกอบโรคศิลปะ จำนวน 2,000,000 บาท ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากำหนดให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ร้อยละ 60 ของเงินได้ แล้วหักลดหย่อนส่วนตัวหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนคนละ 30,000 บาท คงเหลือเงินได้สุทธิ 740,000 บาท สำหรับเงินได้สุทธิจำนวน 150,000 บาท แรกได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ คิดเป็นภาษีเงินได้ที่ต้องชำระจำนวน 63,500 บาท
5. ในที่นี้ กำหนดให้ห้างหุ้นส่วนสามัญดังกล่าว ไม่มีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงมาหักเลย จำนวนกำไรสะสมคงเหลือที่ต้องแสดงใน “รายงานบัญชีรับ – จ่ายของห้างหุ้นส่วนสามัญและคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล” ยื่นพร้อมกับแบบ ภ.ง.ด.90 สำหรับปีภาษี 2557 ที่ต้องยื่นภายในเดือนมีนาคม 2558 คือ 2,000,000 บาท เท่าที่ได้รับ เพราะการหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาเป็นหลักเกณฑ์เพื่อการคำนวณภาษีเงินได้เท่านั้น มิใช่ค่าใช้จ่ายจริง ดังนั้น หากต่อมาในปี พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป ห้างหุ้นส่วนได้นำจำนวนกำไรดังกล่าวมาแบ่งปันกัน เช่น คนละ (2,000,000 - 63,500)/2 = 963,150 บาท
6. ผู้เป็นหุ้นส่วนแต่ละคนต้องนำเงินได้พึงประเมินที่เป็นเงินส่วนแบ่งของกำไร ซึ่งถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร ไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้อีกครั้งหนึ่ง
กรณีดังกล่าว นับว่าเป็นความซ้ำซ้อนอย่างยิ่งหากไม่หาแนวทางแก้ไขปํญหานี้ เช่น ให้ทุกอย่างที่กระทำในนามของห้างหุ้นส่วนสามัญจดเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในปี 2557 และไม่กระทำกิจการในนามของห้างฯ อีกต่อไป เป็นต้น


 อ้างอิง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
บรรพ ๓ ลักษณะ ๒๒
หุ้นส่วนและบริษัท
ส่วนที่ ๑
มาตรา ๑๐๑๒ อันว่าสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกัน ด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทำนั้น
มาตรา ๑๐๑๓ อันห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้น ท่านกำหนดเป็นสามประเภท คือ

(๑) ห้างหุ้นส่วนสามัญ
(๒) ห้างหุ้นส่วนจำกัด
(๓) บริษัทจำกัด

วันเสาร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2558

การทำ Business Plan Analysis แบบภาคปฎิบัติ

แผนแรกเป็นความรู้ แผนบู๊คือประสบการณ์

updated: 09 ม.ค. 2558 เวลา 10:50:36 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
คอลัมน์ Startup Cafe
โดย พงศ์พีระ ชวาลาธวัช 

www.facebook.com/thaistartupcafe
มีผู้อ่านบางท่านอยากทราบว่าตอนก่อนหน้านี้ หาอ่านได้ที่ไหน เพราะทราบว่าผมเขียนจบเป็นตอน ๆ แต่จะค่อนข้างต้องอิงกับความรู้ตอนที่แล้ว ก็สามารถเข้าไปที่ เว็บไซต์ของประชาชาติฯ (prachachat.net) เองได้ หรือเข้ามา Facebook Page ของผมก็มีรวมไว้ตรง About อยู่แล้วครับ

คราวนี้ผมจะสรุปให้ฟังคร่าว ๆ ถึงตอนที่แล้วว่า เราได้คุยกันในหัวข้อ การหาความต้องการของตลาด การสำรวจและพิสูจน์ทราบว่าเราไม่ได้หลงไอเดียตัวเองเกินไป จนมาถึงตอนนี้เรียกได้ว่าคุณก็น่าจะมีไอเดียบางอย่างแล้ว ที่สามารถนำมา (พิสูจน์) ทำเป็นธุรกิจได้ ซึ่งมีเจ้าสัวท่านหนึ่งเคยสอนผมไว้ว่า "ถ้าลื้ออยากรู้ว่า ธุรกิจนี้จะไปรอดไหม ก็ต้องลองรบกันดูบนกระดาษก่อน"

ครับ เชื่อหรือไม่ว่า ผมไม่เข้าใจความหมายของเจ้าสัวท่านนี้ จนพอมีประสบการณ์ทางธุรกิจมากขึ้น ถึงเข้าใจว่า "การรบบนกระดาษ" เสียก่อน นั้นคืออะไร ซึ่งคือการทำ Business Plan Analysis นั่นเอง

ถ้าจะทำแผนธุรกิจส่งขอกู้เงินธนาคาร ก็จะเป็นแผนหลาย ๆ หน้า อย่างที่หลาย ๆ คนคุ้นเคย แต่ถ้าเป็น Startup เอง จะมีการวิเคราะห์แผนธุรกิจชนิดหนึ่งที่เรียกว่า Business Model Canvas ซึ่งคิดค้นโดย Alexandra Osterwalder & Yves Pigneur จริง ๆ แล้วทางผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ ได้คิดค้นโมเดลตัวนี้จากการทำวิจัยร่วมกับคนทำธุรกิจและนักลงทุนมากมาย จนในที่สุดได้ "โมเดล" ตัวนี้ออกมา ใช้วิเคราะห์ธุรกิจในขั้นเริ่มต้นได้ดีและเร็ว ต่างจากการเขียนแผนธุรกิจแบบเดิม ซึ่งใช้กู้เงินกันโดยทั่วไป



วิธีการใช้โมเดลตัวนี้ เราจะเริ่มไล่ตอบคำถามตามหัวข้อของแต่ละกรอบ ตามลักษณะของธุรกิจที่คิดไว้ ซึ่งผมขอยกตัวอย่างเป็นเว็บ Amazon.com ซึ่งเป็นเว็บค้าปลีกที่เริ่มมาจากการค้าหนังสือ จนตอนนี้ค้าขายเกือบทุกอย่างผ่านอินเทอร์เน็ต

1.Customer Segment
 คือกลุ่มเป้าหมายที่เราพุ่งเป้าไปเป็นพิเศษ ซึ่งในทุก ๆ ธุรกิจจะมีกลุ่มลูกค้าค่อนข้างชัดเจน ในตัวอย่างของ Amazon.com สมัยแรก ๆ ที่ขายแต่หนังสือ ในช่องนี้คงจะใส่ไว้แค่ว่า "กลุ่มนักศึกษา" หรือ "หนอนหนังสือ" ที่ชอบซื้อของผ่านอินเทอร์เน็ต แต่ปัจจุบันนี้ Customer Segment กลายเป็น Mass Market หรือตลาดที่แทบจะทุกคนคือเป้าหมายของ Amazon.com หมดเพราะมีสินค้าให้เลือกสรรเกือบทุกกลุ่มเป้าหมาย

2.Value Propositions คือคุณค่าที่ลูกค้าเล็งเห็น ว่านี่ละคือเหตุผลที่จะทำให้พวกเขาเข้ามาใช้บริการ ในส่วนของ Amazon.com น่าจะเป็นเรื่องของ "ราคาถูก" มีส่วนลดบ่อยตามเทศกาลต่าง ๆ และที่สำคัญ ไม่ต้องออกไปเลือกซื้อข้างนอก เพราะลักษณะทางภูมิศาสตร์ของประเทศอเมริกานั้นมีพื้นที่กว้างขวางและต้องเดินทางไกล ทำให้บางครั้งการไปซื้อของเพียงแค่ชิ้นเดียว ไม่คุ้มค่าเท่าไหร่นัก สู้สั่งจาก Amazon ดีกว่า ผมขอเสริมหัวข้อนี้หน่อยว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก ที่เราจะพยายามหาให้ถึง UVP (Unique Value Proposition) หรือคุณค่า หรือเหตุผลที่เป็นเอกลักษณ์ที่เรามีเพียงคนเดียว เช่น Ookbee E Bookstore ที่เดียวที่มีหนังสือเยอะที่สุด เลือกซื้อสะดวกสุดในไทย เป็นต้น

3.Channels
 คือช่องทางที่เราจะนำ Value Proposition หรือมูลค่าและคุณค่าของสินค้าส่งไปถึงลูกค้าของเรา คำว่า "ช่องทาง" นี้ไม่ได้หมายถึงแค่ว่าเราจะส่งสินค้าหรือขายสินค้าให้ลูกค้าอย่างไร แต่หมายถึง ช่องทางที่เรากับลูกค้านั้นติดต่อเชื่อมโยงมูลค่ากันได้อย่างไร ยกตัวอย่าง Amazon เหมือนเดิม จะเป็นหน้าเว็บ Amazon.com เป็น Application บนมือถือ เป็น Retailer ต่าง ๆ ที่ขายของอยู่บน Amazon เป็นต้น

4.Customer Relationship คือความสัมพันธ์ของเรากับลูกค้านั้นมีระดับความลึกที่ระดับใด เช่น ถ้าเป็น Amazon ความสำคัญจะอยู่ในระดับ ลูกค้าต้องบริการตนเอง โดยที่ระบบจะมีการตั้งอัตโนมัติไว้ให้อยู่แล้ว บางธุรกิจ เช่น การขายตรง ระดับความลึกอาจจะอยู่ในระดับที่ต้องไปตามรับส่งดูแลลูกของลูกค้าแทนกันเลยทีเดียว

5.Revenue Stream คือวิธีหาเงินครับ มันคือจุดที่คนส่วนใหญ่จะคิดก่อนอย่างอื่น และบาง Startup เองก็คิดได้ทีหลัง เพราะธุรกิจไม่ได้หาเงินได้เองโดยตรง เช่น ถ้าเป็น Facebook ก็จะเป็นโฆษณาอย่างที่หลาย ๆ คนทราบดี ถ้าเป็นร้านข้าวเหนียวหมูปิ้งก็คือขายสินค้าแลกเงิน ถ้าเป็น Amazon ก็จะเป็นสมาชิกร้านค้าปลีก รวมไปถึงการหาเงินเพิ่มจากฟีเจอร์เสริมของร้านค้า, E-book, ค่าคอมมิสชั่นจากร้านค้า, ค่าสมัครสมาชิกพิเศษแบบ Prime เป็นต้น

6.Key Resources คือทรัพยากรที่ธุรกิจต้องมีในการทำธุรกิจ เช่น Amazon ต้องมีโรงเก็บสินค้า, คนดูแลเว็บโปรแกรมมิ่ง, Kindle Platform เป็นต้น ถ้าเปรียบเทียบกับร้านข้าวเหนียวหมูปิ้ง คงจะเป็นเตาปิ้งหมู อะไรทำนองนี้ครับ

7.Key Activities คือกิจกรรมทางธุรกิจที่เราต้องทำ เพื่อการนำเสนอมูลค่าของสินค้าเรา เช่น Amazon.com คือการขายสินค้าผ่านทางหน้าเว็บไซต์ของเขา บางธุรกิจอาจจะกลายเป็นว่าสานสัมพันธ์และทำการรีวิวร้านอาหาร เช่น Wongnai.com เป็นต้น

8.Key Partnerships คือเครือข่ายของธุรกิจของเรานั้น ต้องการใครเข้ามาร่วมบ้าง ถึงจะก่อให้เกิดมูลค่านำไปสู่ลูกค้าได้ ซึ่งถ้าเป็น Amazon.com ก็จะเป็น ผู้ค้าส่ง, ผู้ผลิต, เครือข่ายนักขายปลีก, สำนักพิมพ์ เป็นต้น

9.Cost Structure คือโครงสร้างทางด้านต้นทุน ซึ่งในที่นี้ไม่ได้หมายถึงว่าต้นทุนกี่บาท แต่เป็นโครงสร้างของต้นทุน เช่น Amazon มีโครงสร้างแบบ Economies of Scale คือต้องขายให้ได้เยอะ ๆ เพื่อมาถัวเฉลี่ยต้นทุนในการผลิตให้มาก ถึงจะคุ้มทุน เราต้องการรู้ตรงนี้เพื่อที่จะได้วางกลยุทธ์การขายได้ถูกว่าจะเน้นในเรื่องใดก่อน ถ้าเราพูดถึงธุรกิจสร้างโรงไฟฟ้า โครงสร้างของโรงไฟฟ้าก็คือ Fixed Cost ที่สูง และต้องการให้คนใช้ให้มากและเร็วที่สุด เพื่อจะ Break Even ให้คุ้มทุนเร็วที่สุด จะได้กำไรมากสุดในอัตราต้นทุนแปรผัน Variable Cost เท่าเดิม

เมื่อเรากรอกรายละเอียดลงไปครบแล้ว ให้พยายามดูครับว่า ทุกอย่างเชื่อมโยงกันไหม ดูแล้วเป็นเหตุเป็นผลกันหรือไม่ และที่สำคัญสามารถนำส่งมูลค่า หรือ Value Proposition ของเราได้จริงหรือเปล่า ถ้าดูแล้วมันยังขัด ๆ หรือดูไม่น่าจะเป็นไปได้ แนะนำให้ลองทำตาราง Canvas นี้ กับหุ้นส่วนธุรกิจของเรา จะได้ความสนุกในการวิเคราะห์ให้ใกล้กับความจริงมากขึ้นครับ พร้อมจะลงมือทำตาราง Business Canvas กันหรือยังครับ

โทร.นัดหุ้นส่วนธุรกิจคุณมา เตรียม Whiteboard ใหญ่ ๆ พร้อม Post-it แล้วเริ่มลงมือรบกันบนกระดาษเลยครับ

วิธีกรอกเพื่อให้ได้สิทธิ์ยกเว้นภาษีปี 2557 รายงานบัญชีรับ – จ่ายของห้างหุ้นส่วนสามัญและคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล

ที่มา Fanpages:- ครูสุเทพ พงษ์พิทักษ์


รายงานบัญชีรับ – จ่ายของห้างหุ้นส่วนสามัญและคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
ปล. ส่วนแบ่งกำไรในปี 2557 ยังคงได้รับการยกเว้นภาษี แต่ส่วนแบ่งกำไร      ในปี 2558 ไม่ได้รับการยกเว้นภาษีแล้วนะครับ

ตามที่อธิบดีกรมสรรพากรอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 17 (2) แห่งประมวลรัษฎากร ออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 249) เรื่อง กำหนดให้ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ลงวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2557 โดยให้มีผลใช้บังคบตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 เป็นต้นไป จึงขอนำมาสรุปและแจ้งให้เพื่อนๆ ใน fb ได้รับทราบดังนี้
1. วัตถุประสงค์
ตามประกาศฉบับดักล่าวได้อ้างเหตุผลในการออกประกาศว่า "เพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีอากร" ซึ่งในที่นี้ ได้แก่ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล

2. ให้ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล จัดทำรายงานบัญชีรับ – จ่ายของห้างหุ้นส่วนสามัญและคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ประจำปีภาษี 2557 เป็นต้นไป ต้องมีรายการและข้อความอย่างน้อยตามแบบที่แนบท้ายประกาศดังกล่าว โดยให้แสดงรายการดังต่อไปนี้ เช่น รายงานบัญชีรับ – จ่ายของห้างหุ้นส่วนสามัญและคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ประจำปีภาษี 2557
(1) ยอดเงินคงเหลือยกมาจากปีภาษีก่อน ให้แสดงยอดเงินคงเหลือยกมาจากปี 2556 ตามที่ยกมาจริง หากห้างฯ ได้แบ่งส่วนแบ่งของกำไรสำหรับปี 2556 และหรือปีภาษ๊ก่อนหน้านั้นไปหมดสิ้นแล้ว ให้แสดงยอดคงเหลือ -0-
(2) ยอดรวมรายรับระหว่างปีภาษี ให้แสดงจำนวนรวมของยอดรายรับระหว่างปีภาษี 2557 โดยให้แสดงยอดรวมเพียงยอดเดียว ทั้งในส่วนที่ได้รับยกเว้นและส่วนที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
(3) ยอดรวมรายจ่ายระหว่างปีภาษี ให้แสดงจำนวนรวมของยอดรายจ่ายระหว่างปีภาษี 2557 โดยให้แสดงยอดรวมเพียงยอดเดียว เฉพาะในส่วนของรายจ่ายที่ห้างฯ ได้จ่ายไปจริง ทีั้งนี้ เฉพาะรายจ่ายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการของห้างฯ เท่านั้น
(4) ส่วนแบ่งเงินกำไรหรือส่วนแบ่งรายได้ที่จ่ายให้ผู้เป็นหุ้นส่วนหรือบุคคล ให้แสดงส่วนแบ่งเงินกำไรหรือส่วนแบ่งรายได้ที่จ่ายให้ผู้เป็นหุ้นส่วนในห้้างหุ้นส่วนสามัญ หรือบุคคลในคณะบุคคล ในระหว่างปีภาษี 2557 โดยให้แสดงยอดรวมเพียงยอดเดียว
5. ยอดเงินคงเหลือยกไปปีภาษีถัดไป ให้แสดงยอดเงินคงเหลือ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2557 ซึ่งเป็นยอดคงเหลือยที่จะใช้เป็นฐานในการแบ่งเงินส่วนแบ่งของกำไรต่อไป (ถ้ามี)
รายการยอดเงินได้คงเหลือยกไป ปรากฏตาม
(ก).บัญชีธนาคา...................................สาขา......................................
ชื่อบัญชี......................................เลขบัญชี........................................
(ข) เงินสด.....................................................บาท
ที้งนี้ ผู้อำนวยการหรือผู้จัดการห้างหุ้นส่วนหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ต้องลงนามรับรองว่าข้อความข้างต้นถูกต้องและเป็นความจริงทุกประการ

3. การจัดทำบัญชีหรือรายงานแสดงรายได้และรายจ่ายของห้างหุ้นส่วนสามัญและคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลดังกล่าว ให้ทำเป็นภาษาไทย ถ้าทำเป็นภาษาต่างประเทศให้มีภาษาไทยกำกับ
4. ให้ยื่นบัญชีหรือรายงานแสดงรายได้และรายจ่ายของห้างหุ้นส่วนสามัญและคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ประจำปีภาษี 2557 ต่อเจ้าพนักงานประเมินพร้อมกับการยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 หรือ ภ.ง.ด.91 ของปีภาษี 2557 ภายในเดือนมีนาคม 2558 นี้


วันศุกร์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2558

จ้างชาวเวียดนามให้เป็นพนักงานขายประจำอยู่ในประเทศเวียดนาม เงินเดือนและค่านายหน้าเสียภาษีอย่างไร

เลขที่หนังสือ: กค 0702/7723
วันที่: 16 ตุลาคม 2557
เรื่อง: ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการจ่ายเงินเดือนและค่านายหน้า
ข้อกฎหมาย: มาตรา 40(1)(2) และมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          บริษัท บ. (บริษัทฯ) มีความประสงค์จะขยายตลาดไปยังประเทศเวียดนาม ซึ่งในช่วงแรก บริษัทฯ จะยังไม่จัดตั้งสำนักงานขาย แต่จะจ้างชาวเวียดนามให้เป็นพนักงานขายประจำอยู่ในประเทศเวียดนามเพื่อทำตลาด แล้วจึงส่งคำสั่งซื้อของลูกค้ามายังบริษัทฯ โดยส่งมาทาง E-Mail ไม่ต้องเดินทางเข้ามาในประเทศไทย บริษัทฯ จึงขอทราบว่า กรณีที่บริษัทฯ ได้จ่ายเงินเดือนให้แก่พนักงานชาวเวียดนาม พร้อมเบี้ยเลี้ยงทุกวันสุดท้ายของเดือน และหากมียอดขายตามเกณฑ์ที่กำหนดก็จะมีการจ่ายค่านายหน้าให้ด้วยดังกล่าว บริษัทฯ จะต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายหรือไม่ เป็นจำนวนเท่าใด และต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มแทนหรือไม่ อย่างไร
แนววินิจฉัย          กรณีบริษัทฯ จ้างชาวเวียดนามให้เป็นพนักงานขายประจำอยู่ในประเทศเวียดนามเพื่อทำตลาดให้แก่บริษัทฯ นั้น อาจพิจารณาได้ดังนี้
          1.หากเงินได้ที่พนักงานชาวเวียดนามได้รับจากบริษัทฯ ตามข้อเท็จจริงข้างต้น เป็นเงินได้พึงประเมินตามสัญญาจ้างแรงงานตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งได้รับจากการทำงานเพื่อกิจการของนายจ้างในประเทศไทย เงินได้ที่พนักงานได้รับดังกล่าว ย่อมอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทยตามมาตรา 41 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น เมื่อบริษัทฯ จ่ายเงินได้ให้แก่พนักงานชาวเวียดนาม จึงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร แต่อย่างไรก็ดี เนื่องจากพนักงานดังกล่าวมีถิ่นที่อยู่ในสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ค่าตอบแทนที่พนักงานได้รับ จึงเข้าลักษณะเป็นบริการส่วนบุคคลที่ไม่อิสระ ซึ่งเก็บภาษีได้เฉพาะในประเทศที่ได้มีการจ้างงานเท่านั้น เมื่อพนักงานชาวเวียดนามที่มีถิ่นที่อยู่ในสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทยจากค่าตอบแทนที่ได้รับ และบริษัทฯ ไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายแต่อย่างใด ทั้งนี้ ตามข้อ 15 วรรคหนึ่ง แห่งความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ และมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 อนึ่ง การให้บริการตามสัญญาจ้างแรงงาน เข้าลักษณะเป็นการให้บริการตามมาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร แต่เนื่องจากได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(ฐ) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ผู้ชำระราคาค่าบริการ จึงไม่มีหน้าที่นำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 ตามมาตรา 83/6(2) แห่งประมวลรัษฎากร แต่อย่างใด 
          2.หากเงินได้ที่พนักงานชาวเวียดนามได้รับนั้น เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินจากการรับทำงานให้ตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินเนื่องจากหน้าที่งานหรือกิจการที่ทำในต่างประเทศตามมาตรา 41 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อผู้รับเงินได้พึงประเมินไม่ได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย และไม่ได้นำเงินได้พึงประเมินนั้นเข้ามาในประเทศไทยในปีภาษีที่ได้รับเงินได้พึงประเมิน ผู้รับเงินได้พึงประเมินจึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทย ดังนั้น เมื่อบริษัทฯ จ่ายเงินได้พึงประเมินดังกล่าวให้แก่พนักงานชาวเวียดนาม จึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร และเนื่องจากการให้บริการดังกล่าว ไม่เข้าลักษณะการให้บริการที่ทำในต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร ตามมาตรา 77/2 วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร รายรับจากการให้บริการในต่างประเทศของผู้ประกอบการในต่างประเทศ จึงไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ไม่มีหน้าที่ต้องยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 83/6 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 77/39328

บริษัท เอส.เค.แอคเคาน์ติ้งอินฟอร์เมชั่น จำกัด โทร 02-575-3007-8
รับจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วน บริษัท บุุคคลธรรมดา
รับวางระบบบัญชีด้วยโปรแกรมบัญชี Express
รับวางแผนภาษี และเคลียภาษีสรรพากร
ตรวจสอบ ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับธุรกิจที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน (BOI-Business)
รับแก้ไขปัญหาคดีรับหมายเรียกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ฐานความผิดไม่ยื่นงบการเงิน
หรือส่งงบการเงินล่าช้า เกินกำหนดดังกล่าว โดยประหยัดและถูกต้อง

ทีมา:- จดหมายตอบข้อหารือกรมสรรพากร

85/151 ถนนแจ้งวัฒนะ 27  ตำบลคลองเกลือ
อำเภอปากเกร็ด นนทบุรี 11120
โทรศัพท์ 02-575-3007 โทรสาร 02-575-3008
ดำเนินการโดย
นักบัญชีรับอนุญาต จากกระทรวงพาณิชย์และสภาวิชาชีพบัญชี