วันอังคารที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2558

ความเข้าใจเกี่ยวกับภาระภาษีกรณีเงินฝากร่วมกันของคณะบุุคคล หรือ สามีภรรยา

ที่มา Fanpages กรมสรรพากร วันที่ 30/3/2558

เรื่อง ความเข้าใจเกี่ยวกับภาระภาษีกรณีเงินฝากร่วมกัน
ตามที่กรมสรรพากรได้มีการแก้ไขกฎหมายโดยการตราพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 39) พ.ศ. 2557 ปรับปรุงการจัดเก็บภาษีเงินได้กรณีห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคล ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับแนวทางปฏิบัติจัดเก็บจากดอกเบี้ยของบัญชีเงินฝากร่วมกันที่ได้รับจากธนาคาร นั้น
กรมสรรพากรขอเรียนว่า


1. ตามข้อกฎหมายที่ได้กำหนดว่าห้างหุ้นส่วนสามัญให้หมายถึง บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกันด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้จากกิจการที่ทำนั้น และได้มีคำชี้แจงว่าการเข้าร่วมเปิดบัญชีธนาคาร เช่น เงินฝากบัญชีนางสาว ก และนางสาว ข ถือเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ ทำให้สมาคมธนาคารไทยมีความเข้าใจว่า การเปิดบัญชีเงินฝากร่วมกันทุกกรณีจะเข้าลักษณะเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ ซึ่งหากมีการแบ่งดอกเบี้ยที่ได้รับ ผู้รับจะต้องนำไปรวมคำนวณภาษีเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต่อไปอีกครั้งหนึ่ง โดยที่สมาคมธนาคารไทยได้มีหนังสือถึงธนาคารที่เป็นสมาชิกให้ชี้แจงทำความเข้าใจกับลูกค้าเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวนั้น

2. กรมสรรพากรขอเรียนชี้แจง ดังนี้

2.1 กรณีการฝากเงินที่เป็นบัญชีเงินฝากร่วมกัน โดยมีเจตนาที่จะเป็นการออมภายในครอบครัว เช่น พ่อและหรือแม่ฝากเงินเพื่อลูก ดอกเบี้ยที่ได้รับสามารถเลือกใช้สิทธิถูกหัก ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 15 โดยไม่ต้องนำมารวมคำนวณในแบบแสดงรายการภาษีในตอนปลายปี และดอกเบี้ยที่ลูกได้รับไม่ต้องนำมารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต่อไปอีกครั้งหนึ่ง

2.2 กรณีการฝากเงินที่เป็นบัญชีเงินฝากร่วมกันของสามีและภรรยา จะไม่เข้าลักษณะเป็นการเสียภาษีในรูปห้างหุ้นส่วนสามัญ ทั้งนี้ ดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นจะถือเป็นเงินได้ของสามีหรือภรรยาก็ได้ และสามารถเลือกใช้สิทธิถูกหัก ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 15 โดยไม่ต้องนำมารวมคำนวณในแบบแสดงรายการภาษีในตอนปลายปี และดอกเบี้ยที่ได้รับไม่ต้องนำมารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต่อไปอีกครั้งหนึ่งเช่นกัน

2.3 สำหรับกรณีการฝากเงินที่เป็นบัญชีเงินฝากร่วมกันในลักษณะอื่น ๆ เช่น นำเงินไปฝากร่วมกับบุคคลอื่น จะเข้าลักษณะเป็นการเสียภาษีในรูปห้างหุ้นส่วนสามัญ ทั้งนี้ ห้างหุ้นส่วนสามัญสามารถเลือกใช้สิทธิถูกหัก ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 15 โดยไม่ต้องนำมารวมคำนวณภาษีในแบบแสดงรายการภาษีในตอนปลายปี แต่เมื่อมีการแบ่งดอกเบี้ยที่ได้รับ หุ้นส่วนแต่ละคนจะต้องนำไปเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต่อไปอีก ครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ หากเป็นกรณีการแบ่งเงินต้นที่ฝากจะไม่ใช่เงินได้พึงประเมินที่ต้องนำไปเสียภาษีเงินได้

2.4 กรณีห้างหุ้นส่วนสามัญเลือกใช้สิทธิถูกหัก ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 15 และไม่นำมารวมคำนวณภาษีในแบบแสดงรายการภาษีในตอนปลายปี ห้างหุ้นส่วนสามัญนั้นไม่ต้องจัดทำบัญชีแสดงรายได้และรายจ่ายของห้างหุ้นส่วนสามัญ เพื่อยื่นต่อกรมสรรพากรแต่อย่างใด


วันเสาร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2558

ลดภาษี SME ปี 58 ไม่เกิน 3 ล้านบาทร้อยละ 15% มากกว่านั้นร้อยละ 20

รัฐบาลประกาศลดภาษีเงินได้นิติบุคคลให้ SME สรุปได้ดังนี้

SME หมายถึง นิติบุคคลที่ไม่เกิน 3 ล้านบาท หรือมีรายได้ปีใดเกิน 30 ล้านบาท

ปี 57 กำไรสุทธิ             0 - 300,000   บาท ร้อยละ 0
         กำไรสุทธิ 300,001 - 1,000,000 บาท ร้อยละ 15
         กำไรสุทธิ   > 1,000,0000  บาท         ร้อยละ 20

ปี 58 กำไรสุทธิ             0 - 300,000   บาท ร้อยละ 0
         กำไรสุทธิ 300,001 - 3,000,000 บาท ร้อยละ 15
         กำไรสุทธิ   > 3,000,0000  บาท         ร้อยละ 20

ดูรายละเอียดประกาศฉบับเต็มได้ที่ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2558/A/021/78.PDF




กรณีผู้นำใบกำกับภาษีปลอมไปใช้ มีโทษทางอาญามีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือนถึง 7 ปีและปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองแสนบาทและโทษทางแพ่งต้องรับผิดเบี้ยปรับสองเท่าตามมาตรา 89 (7 ) และเงินเพิ่มตามมาตรา 89 / 1

"ประสงค์" เผย กรมสรรพากรจับกุมกลุ่มผู้ค้าขายใบกำกับภาษีปลอม 2 รายใหญ่ คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย1,000 ล้านบาท
นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร และพล.ต.ท ประวุฒิ ถาวรศิริ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แถลงข่าวการตรวจค้นและจับกุมกลุ่มผู้ค้าขายใบกำกับภาษีปลอมถึง 2 รายใหญ่ รายแรกเป็นกลุ่มปิ่นอนงค์ และรายที่ 2 เป็น กลุ่มนายชนะ ซึ่งทั้งสองกลุ่มนี้ไม่มีความเกี่ยวพันกัน โดยจับกุมได้เมื่อคืนที่ผ่านมา และมีข้อมูลว่า มีบริษัทจำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัด ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และ รับเหมาก่อสร้าง จำนวนเกิน 100 ราย ที่ซื้อใบกำกับภาษีปลอมจาก 2 กลุ่มนี้ 

จากการจับกลุ่มพบของกลางเป็นใบกำกับภาษีและเอกสารที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก กลุ่มบุคคลดังกล่าวตั้งบริษัทนิติบุคคลขึ้นมาลอย ๆ โดยไม่มีการประกอบการจริง มีพฤติการณ์กระทำความผิดด้วยการออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีการซื้อขายสินค้าจริงให้แก่ผู้ประกอบการรายอื่นๆเป็นจำนวนมากถือเป็นการออกใบกำกับภาษีโดยไม่ชอบด้วยกฏหมาย 

สำหรับรายแรกกลุ่มปิ่นอนงค์ได้ดำเนินการจับกุมผู้กระทำผิด 2 คนคือ นาง ปริยากร หรือ ปิยะพร เวชพาณิช นายภูเบศ หรือ ป้อม กล้าจริง และ อยู่ระหว่างการสอบสวนผู้ที่เกี่ยวข้องอีกหลายคน จากการตรวจสอบพบว่ามีการยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) เพื่อแสดงยอดขายบังหน้าให้ดูสมจริงเป็นมูลค่ากว่า 3,000 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 1,000 ล้านบาท 

ส่วนรายที่ 2 กลุ่มนายชนะ ได้ดำเนินการจับกุมผู้กระทำความผิดจำนวน 1 คนคือนายชนะ ตั้งศิวิไลพร มีการยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) เพื่อแสดงยอดขายบังหน้าให้ดูสมจริงเป็นมูลค่ากว่า 400 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 100 ล้านบาท 

รวมถึงพบใบกำกับภาษีเล่มเปล่าๆ พร้อมออกขายอีกหลายหมื่นฉบับ ซึ่งหากไม่ถูกตรวจค้นและจับกุมได้ จะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอีกนับ 10,000 ล้านบาท 

สำหรับความผิดทางกฎหมายกรณีผู้ออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิ มีโทษทางอาญาจำคุกตั้งแต่ 3 เดือนถึง 7 ปีและปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองแสนบาทและโทษทางแพ่งต้องรับเบี้ยปรับ 2 เท่าของภาษีตามมาตรา 89 (6) และเงินเพิ่มตามมาตรา 89 / 1 

กรณีผู้นำใบกำกับภาษีปลอมไปใช้ มีโทษทางอาญามีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือนถึง 7 ปีและปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองแสนบาทและโทษทางแพ่งต้องรับผิดเบี้ยปรับสองเท่าตามมาตรา 89 (7 ) และเงินเพิ่มตามมาตรา 89 / 1 

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ :- http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/641182#sthash.cLN98sPB.dpuf

วันอาทิตย์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2558

ควบรวม+โอนกิจการ บางส่วนให้แก่กันของบริษัทมหาชนจำกัดหรือบริษัทจำกัด เพื่อยกเว้นรัษฎากร

พระราชกฤษฎีกา
ออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๕๑๖)
พ.ศ. ๒๕๕๔
---------------------------------
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๔
เป็นปีที่ ๖๖ ในรัชกาลปัจจุบัน
                             พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
                             โดยที่เป็นการสมควรยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ บางกรณีอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๘๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา ๓ (๑) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๔๙๖ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๓ และมาตรา ๔๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้
                             มาตรา ๑ พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๕๑๖) พ.ศ. ๒๕๕๔”
                             มาตรา ๒ พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
                             มาตรา ๓ ให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามหมวด ๔ ภาษีธุรกิจเฉพาะตามหมวด ๕ และอากรแสตมป์ตามหมวด ๖ ในลักษณะ ๒ แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่ผู้ประกอบกิจการซึ่งเป็นบริษัทมหาชนจำกัดหรือบริษัทจำกัดที่เป็นบริษัทในเครือเดียวกัน สำหรับมูลค่าของฐานภาษี รายรับ หรือการกระทำตราสารที่เกิดขึ้นหรือเนื่องมาจากการที่ผู้ประกอบกิจการดังกล่าวโอนกิจการบางส่วนให้แก่กัน ตามหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด ทั้งนี้ สำหรับการโอนกิจการที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๔ เป็นต้นไป
                             “บริษัทในเครือเดียวกัน” หมายความว่า บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในเครือเดียวกันตามมาตรา ๓๙ แห่งประมวลรัษฎากร และให้หมายความรวมถึงบริษัทผู้โอนกิจการถือหุ้นในบริษัทที่ถือหุ้นในบริษัทผู้รับโอนกิจการอีกทอดหนึ่งต่อเนื่องกันโดยการถือหุ้นของบริษัทดังกล่าวมีจำนวนไม่น้อยกว่า
ร้อยละห้าสิบของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทที่ถูกถือหุ้นนั้น ทั้งนี้ ความเป็นบริษัทในเครือเดียวกันจะต้องเป็นอยู่ต่อไปไม่น้อยกว่าหกเดือนนับแต่วันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีที่มีการโอนกิจการบางส่วนให้แก่กัน
                             มาตรา ๔ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
       อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
         นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ เนื่องจากได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๔๙๖) พ.ศ. ๒๕๕๓ กำหนดให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ให้แก่ผู้ประกอบกิจการซึ่งเป็นบริษัทมหาชนจำกัดหรือบริษัทจำกัด สำหรับมูลค่าของฐานภาษี รายรับ หรือการกระทำตราสารที่เกิดขึ้นหรือเนื่องมาจากการโอนกิจการบางส่วนให้แก่กัน ซึ่งมีผลใช้บังคับถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ แต่โดยที่กระบวนการในการปรับปรุงโครงสร้างองค์กรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในทางธุรกิจ ยังคงมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการส่งเสริมสนับสนุนต่อไปอีก สมควรยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ให้แก่ผู้ประกอบกิจการซึ่งเป็นบริษัทมหาชนจำกัดหรือบริษัทจำกัดที่เป็นบริษัทในเครือเดียวกัน สำหรับมูลค่าของฐานภาษี รายรับ หรือการกระทำตราสารที่เกิดขึ้นหรือเนื่องมาจากการโอนกิจการบางส่วนให้แก่กัน บางกรณี เพื่อเป็นการช่วยสนับสนุนและรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศไทยให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง และเพื่อให้ผู้ประกอบกิจการสามารถปรับปรุงโครงสร้างองค์กรและดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพสอดคล้องกับการดำเนินการตามแผนพัฒนาตลาดทุนไทย จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้
                             (ร.จ. ฉบับราชกฤษฎีกา เล่ม ๑๒๘ ตอนที่ ๒๙ ก วันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๕๔)


ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการโอนกิจการบางส่วนให้แก่กัน
ของบริษัทมหาชนจำกัด หรือบริษัทจำกัด เพื่อยกเว้นรัษฎากร
---------------------------------------
                            อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๓ แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๕๑๖) พ.ศ. ๒๕๕๔ อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการโอนกิจการบางส่วนให้แก่กันของบริษัทมหาชนจำกัด หรือบริษัทจำกัด ดังต่อไปนี้
                            ข้อ ๑ ต้องเป็นการโอนกิจการบางส่วนให้แก่กันของบริษัทมหาชนจำกัด หรือบริษัทจำกัดที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย และต้องเป็นบริษัทในเครือเดียวกันตามมาตรา ๓๙ แห่งประมวลรัษฎากร โดยความเป็นบริษัทในเครือเดียวกันจะต้องเป็นอยู่ต่อไปไม่น้อยกว่าหกเดือน นับแต่วันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีที่มีการโอนกิจการบางส่วนให้แก่กันบริษัทในเครือเดียวกันตามวรรคหนึ่งให้หมายความรวมถึงบริษัทผู้โอนกิจการถือหุ้นในบริษัทที่ถือหุ้นในบริษัทผู้รับโอนกิจการอีกทอดหนึ่งต่อเนื่องกัน โดยการถือหุ้นของบริษัทดังกล่าวมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทที่ถูกถือหุ้นนั้น และในกรณีที่การถือหุ้นในบริษัทผู้รับโอนกิจการได้มีการเปลี่ยนแปลงจำนวนหุ้นที่ถือภายหลังการโอนกิจการโดยการถือหุ้นยังคงมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทผู้รับโอนกิจการ ทั้งนี้ บริษัทผู้รับโอนกิจการจะต้องมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิในวันที่มีการรับโอนกิจการ ไม่น้อยกว่าราคาทรัพย์สินสุทธิที่โอน
                            ข้อ ๒ บริษัทผู้โอนกิจการและบริษัทผู้รับโอนกิจการจะต้องร่วมกันทำหนังสือแจ้งการโอนกิจการและส่งแผนปรับปรุงโครงสร้างองค์กรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพพร้อมกับแสดงรายการทรัพย์สินที่โอน ยื่นต่ออธิบดีกรมสรรพากร ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ในเขตท้องที่ที่สถานประกอบการซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่ของบริษัทผู้โอนกิจการตั้งอยู่ หรือสำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ สำหรับบริษัทผู้โอนกิจการที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ตามแบบที่กำหนดในประกาศนี้ ก่อนที่จะมีการโอนกิจการระหว่างกันบริษัทผู้โอนกิจการจะต้องโอนกิจการบางส่วน ให้แล้วเสร็จภายในวันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้ตกลงโอนกิจการบางส่วนให้แก่กันสำหรับบริษัทผู้โอนกิจการและบริษัทผู้รับโอนกิจการที่ได้ดำเนินการโอนกิจการไปแล้วก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ หากประสงค์จะรับสิทธิยกเว้นภาษีตามพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๕๑๖) พ.ศ. ๒๕๕๔ จะต้องร่วมกันทำหนังสือแจ้งการโอนกิจการและส่งแผนปรับปรุงโครงสร้างองค์กรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพพร้อมกับแสดงรายการทรัพย์สินที่โอน ยื่นต่ออธิบดีกรมสรรพากร ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ในเขตท้องที่ที่สถานประกอบการซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่ของบริษัทผู้โอนกิจการตั้งอยู่ หรือสำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่สำหรับบริษัทผู้โอนกิจการที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ ภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่ได้ลงประกาศฉบับนี้ในราชกิจจานุเบกษา
                            ข้อ ๓ ต้องเป็นการโอนทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับประเภทของกิจการที่โอนนั้น ซึ่งมิใช่เป็นการขายอันเป็นปกติธุระ และบริษัทผู้รับโอนกิจการต้องนำไปดำเนินกิจการในลักษณะเดียวกัน
                           ข้อ ๔ กรณีบริษัทผู้โอนกิจการเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มบริษัทผู้รับโอนกิจการจะต้องเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยคำนวณภาษีตามมาตรา ๘๒/๓ แห่งประมวลรัษฎากรและบริษัทผู้รับโอนกิจการจะต้องนำสินค้าหรือทรัพย์สินที่รับโอนนั้นไปใช้ในกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของบริษัทโดยตรง
                          ข้อ ๕ บริษัทผู้โอนกิจการต้องไม่โอนทรัพย์สินโดยไม่มีค่าตอบแทนหรือมีค่าตอบแทนต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควรในวันที่โอนกิจการ
                          ข้อ ๖ บริษัทผู้โอนกิจการและบริษัทผู้รับโอนกิจการจะต้องไม่เป็นลูกหนี้ภาษีอากรค้างของกรมสรรพากร ณ วันที่โอนกิจการเว้นแต่จะได้มีการค้ำประกันหนี้ภาษีอากรตามระเบียบที่กรมสรรพากรกำหนดแล้ว
                          ข้อ ๗ ผู้สอบบัญชีของบริษัทผู้โอนกิจการและบริษัทผู้รับโอนกิจการต้องมีคุณสมบัติตามมาตรา ๓ สัตต แห่งประมวลรัษฎากร เป็นผู้รับรองบัญชีในรอบระยะเวลาที่มีการโอนกิจการบางส่วนให้แก่กัน และเป็นผู้รับรองผลการประกอบกิจการและการเป็นบริษัทในเครือเดียวกันตามข้อ ๑
                          ข้อ ๘ กำหนดให้แบบต่อไปนี้ เป็นแบบเกี่ยวกับการโอนกิจการบางส่วนให้แก่กันของบริษัทมหาชนจำกัด หรือบริษัทจำกัด เพื่อยกเว้นรัษฎากร
                                    (๑) แบบ อ.บ.๑ หนังสือแจ้งการโอนกิจการบางส่วนให้แก่กัน
                                    (๒) แบบ อ.บ.๒ แบบแจ้งรายการทรัพย์สินที่โอน
                                    (๓) แบบ อ.บ.๓ แบบแจ้งการเป็นลูกหนี้ค่าภาษีอากรสำหรับการโอนกิจการบางส่วนให้แก่กันของบริษัทมหาชนจำกัดหรือบริษัทจำกัด
                                    (๔) แบบ อ.บ.๔ แบบหนังสือรับรองการเป็นบริษัทในเครือเดียวกัน
                            ข้อ ๙ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๔ เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๔
สาธิต รังคสิริ
(นายสาธิต รังคสิริ)
อธิบดีกรมสรรพากร

เอกสารอ้างอิง พร้อมแบบฟอร์มที่เกี่ยวข้อง


วันเสาร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2558

ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีจ่ายเงินค่าโทรศัพท์และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับรถยนต์ให้พนักงาน

ที่มา:-จดหมายตอบข้อหารือกรมสรรพากร

สรุปจากหนังสือตอบข้อหารือกรมสรรพากรข้างล่าง ครับ

1.ค่าโทรศัพท์มือถือเหมาจ่ายขั้นต่ำได้ ต้องกำหนดเป็นระเบียบบริษัทและเป็นการใช้จ่ายเพิ่อกิจการ นำใบเสร็จจริงของพนักงานมาเบิกได้ ไม่ถือเป็นเงินได้พนักงาน ทำให้ไม่ถูกหัก ภาษี ณ ที่จ่าย ครับ

2.ค่าเบี้ยประกันภัยรถยนต์ น้ำมันรถยนต์ และค่าเช่ายานพาหนะ ของพนักงาน กรมสรรพากรไม่ยอมรับถือเป็นเงินได้ของพนักงาน ครับ แต่ให้แนวปฎิบัติดังนี้ ครับ

เมื่อบริษัทฯ จ่ายเงินค่าน้ำมันรถยนต์ให้กับพนักงานพนักงานจะได้รับยกเว้นไม่ต้องนำค่าน้ำมันรถยนต์ดังกล่าวไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา ๔๒(๑) แห่งประมวลรัษฎากร

1.พนักงานต้องมีหลักฐานการใช้รถยนต์และพิสูจน์จนเป็นที่เชื่อถือแก่การตรวจสอบไต่สวนของเจ้าพนักงานประเมินว่าได้จ่ายไปโดยสุจริตตามความจำเป็น เฉพาะในการที่ต้องปฏิบัติการตามหน้าที่ของตน

2.ได้จ่ายไปทั้งหมดเพื่อการปฏิบัติงานตามหน้าที่นั้นด้วยประกอบกับบริษัทฯ ต้องมีระเบียบอนุญาตให้มีการเบิกจ่ายค่าน้ำมันรถยนต์โดยมีหนังสืออนุญาต พร้อมทั้งการบันทึกอนุญาตให้เดินทางไปติดต่องานจากที่ไหนถึงไหน ระยะทางเท่าใด ชื่อเจ้าของรถยนต์ หมายเลขทะเบียนรถยนต์ใบเสร็จรับเงินค่าน้ำมันรถยนต์ที่มีการระบุชื่อเจ้าของรถยนต์

โดยสรุปแล้ว เบิกได้แต่ค่าน้ำมันไม่ให้ค่าสึกหรอครับ ทำรายงานละเอียดหยิบ อย่างนี้ทำเบิกค่าแท็กซี่โดยระบุรายละเอียดจากไหนไปไหน เพื่ออะไรจ่ายให้พนักงาน จะง่ายกว่าไหม ครับ

เลขที่หนังสือ : 0702/1121 วันที่ : 6 มีนาคม 2557

เรื่อง : ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีจ่ายเงินค่าโทรศัพท์และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับรถยนต์ให้พนักงาน

ข้อกฎหมาย : มาตรา 42(1) มาตรา 40 มาตรา 50 และมาตรา 52 แห่งประมวลรัษฎากร

ข้อหารือ

          บริษัทฯ มีระเบียบการจ่ายเงินช่วยเหลือค่าโทรศัพท์ และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับรถยนต์ให้กับพนักงานบางหน่วยงานของบริษัทฯ ที่มีความจำเป็นต้องออกไปปฏิบัติงานตามหน้าที่และได้นำโทรศัพท์และรถยนต์ส่วนตัวมาใช้ในการทำงาน โดยบริษัทฯ ได้มีการจ่ายเงินตามหลักเกณฑ์ ดังนี้

           ๑.ค่าโทรศัพท์ให้เบิกได้ตามจริงแต่ไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท ให้พนักงานนำใบเสร็จรับเงินค่าโทรศัพท์ฉบับจริงมาแสดงทุกครั้งที่ทำการขอเบิกจ่ายเงิน

           ๒.ค่าเบี้ยประกันภัยรถยนต์ และค่าพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. ๒๕๓๕ (พ.ร.บ.) ให้พนักงานเบิกได้ตามจริง โดยนำใบเสร็จรับเงินฉบับจริงมาแสดงทุกครั้งที่ทำการขอเบิกจ่ายเงิน

           ๓.ค่าน้ำมันรถยนต์มีรายงานการเดินทางและใบเสร็จรับเงินฉบับจริงมาแสดง

           ๔.ค่าบำรุงรักษาและค่าเสื่อมราคารถยนต์เหมาจ่ายเป็นรายเดือน

           บริษัทฯ ขอทราบว่า เมื่อบริษัทฯ จ่ายเงินช่วยเหลือดังกล่าว ให้กับพนักงาน บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย หรือไม่ อย่างไร

แนววินิจฉัย

          ๑.กรณีตาม ๑. เมื่อบริษัทฯ จ่ายค่าโทรศัพท์ให้แก่พนักงาน เนื่องจากพนักงานได้นำโทรศัพท์ส่วนตัวมาใช้ในกิจการของบริษัทฯ ตามระเบียบการเบิกจ่ายเงินของบริษัทฯ นั้นหากบริษัทฯ มีหลักฐานพิสูจน์ได้โดยชัดแจ้งว่า ค่าโทรศัพท์นั้นเกี่ยวข้องโดยตรงกับกิจการแล้วกรณีดังกล่าว ไม่ถือเป็นประโยชน์เพิ่มของพนักงาน ฉะนั้น เมื่อบริษัทฯ จ่ายค่าโทรศัพท์คืนให้พนักงานบริษัทฯ ไม่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย แต่อย่างใด

           ๒.กรณีตาม ๒. และ ๓. เมื่อบริษัทฯ จ่ายเงินค่าน้ำมันรถยนต์ให้กับพนักงานพนักงานจะได้รับยกเว้นไม่ต้องนำค่าน้ำมันรถยนต์ดังกล่าวไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา ๔๒(๑) แห่งประมวลรัษฎากร พนักงานต้องมีหลักฐานการใช้รถยนต์และพิสูจน์จนเป็นที่เชื่อถือแก่การตรวจสอบไต่สวนของเจ้าพนักงานประเมินว่าได้จ่ายไปโดยสุจริตตามความจำเป็น เฉพาะในการที่ต้องปฏิบัติการตามหน้าที่ของตน และได้จ่ายไปทั้งหมดเพื่อการปฏิบัติงานตามหน้าที่นั้นด้วยประกอบกับบริษัทฯ ต้องมีระเบียบอนุญาตให้มีการเบิกจ่ายค่าน้ำมันรถยนต์โดยมีหนังสืออนุญาต พร้อมทั้งการบันทึกอนุญาตให้เดินทางไปติดต่องานจากที่ไหนถึงไหน ระยะทางเท่าใด ชื่อเจ้าของรถยนต์ หมายเลขทะเบียนรถยนต์ใบเสร็จรับเงินค่าน้ำมันรถยนต์ที่มีการระบุชื่อเจ้าของรถยนต์ หมายเลขทะเบียนรถยนต์ให้ชัดเจน ส่วนกรณีเงินค่าเบี้ยประกันภัยรถยนต์ ค่า พ.ร.บ. และค่าน้ำมันรถยนต์ที่บริษัทฯ ได้จ่ายให้พนักงานส่วนที่นอกเหนือจากกรณีดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นประโยชน์อย่างอื่นที่ได้เนื่องจากการจ้างแรงงานตามมาตรา ๔๐(๑) แห่งประมวลรัษฎากร พนักงานต้องนำเงินจำนวนดังกล่าวไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย และบริษัทฯ มีหน้าที่ต้องนำไปรวมคำนวณหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ ที่จ่าย และนำส่งตามมาตรา ๕๐ และมาตรา ๕๒ แห่งประมวลรัษฎากร

           ๓.กรณีตาม ๔. ค่าบำรุงรักษาและค่าเสื่อมราคารถยนต์เหมาจ่ายเป็นรายเดือนเข้าลักษณะเป็นค่าพาหนะที่บริษัทฯ จ่ายให้แก่พนักงานโดยคิดคำนวณมาจากค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงาน และค่าใช้จ่ายที่กำหนดแน่นอน เป็นค่าพาหนะที่นายจ้างเหมาจ่ายให้แก่ลูกจ้าง ย่อมไม่อยู่ในความหมายของมาตรา ๔๒(๑) แห่งประมวลรัษฎากร และเป็นเงินได้ที่ต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ของพนักงาน บริษัทฯ จึงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ ที่จ่ายไว้และนำส่งตามมาตรา ๕๐ และมาตรา ๕๒ แห่งประมวลรัษฎากร

เลขตู้ : 77/38891


ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการจ่ายเงินทำบุญตามประเพณี

ที่มา:-จดหมายตอบข้อหารือกรมสรรพากร

เลขที่หนังสือ : 0702/1131 วันที่ : 6 มีนาคม 2557

เรื่อง : ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการจ่ายเงินทำบุญตามประเพณี

ข้อกฎหมาย : มาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร

ข้อหารือ

          บริษัทฯ มีประเพณีประจำปี จัดทำบุญเลี้ยงพระในวันสงกรานต์ วันปีใหม่ และทำบุญเปิดกิจการใหม่ โดยงานบุญดังกล่าวได้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ ตลอดจนสร้างความสามัคคีกลมเกลียวให้กับพนักงานของบริษัทฯ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นตั้งแต่ ปี 2555 ถึงปีปัจจุบัน บริษัทฯ จึงขอทราบว่า บริษัทฯ จะนำรายจ่ายดังกล่าวมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ ได้หรือไม่ อย่างไร

แนววินิจฉัย

          1. กรณีการทำบุญประจำปีตามประเพณี หากบริษัทฯ มีระเบียบเกี่ยวกับการจัดงานทำบุญประจำปีตามประเพณีดังกล่าว ที่ใช้บังคับเป็นการทั่วไปในบริษัทฯ โดยจัดทำขึ้นเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ ตลอดจนสร้างความสามัคคีกลมเกลียวให้กับพนักงานบริษัทฯ รายจ่ายดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นรายจ่ายเพื่อกิจการโดยตรง บริษัทฯ สามารถนำไปหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี(13) แห่งประมวลรัษฎากร

           2. กรณีบริษัทฯ ทำบุญเปิดกิจการใหม่ เนื่องจากรายจ่ายดังกล่าวเป็นรายจ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการ บริษัทฯ สามารถนำไปหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี(13) แห่งประมวลรัษฎากร

เลขตู้ :77/38895

บุคคลธรรมดา ซื้อเนื้อหมูมาทำลูกชิ้นหมู ขายส่งและปลีก +ซื้อกระเพาะปลาแห้ง มาทอดกับน้ำมัน และขาย เสียภาษีอย่างไร

ที่มา Fanpages “สุเทพ พงษ์พิทักษ์” 

คุณมาลีวรรณ นิลอร่าม “Fon Maleewan” ได้เขียนไปในไทม์ไลน์ “สุเทพ พงษ์พิทักษ์” เมื่อ 14 กันยายน 2557 เวลา 22:14 น. ว่า

“กราบเรียน อาจารย์สุเทพ ที่เคารพหนูมีปัญหาเกี่ยวกับการหักค่าใช้จ่าย ม. 40 (8) ค่ะคิดจะทำธุรกิจส่วนตัวเล็กน้อย แต่อยากเสียภาษีให้ถูกต้องค่ะ และกลัวว่าจะได้กำไร ไม่คุ้มกับภาษีที่ต้องเสียจะซื้อเนื้อหมูมาทำลูกชิ้นหมู ขายส่งและปลีกกรณีหักค่าใช้จ่ายตามจริง

ถ้าหนูทำลูกชิ้นหมูเสร็จช่วงสิ้นปี 2557 แต่นำไปขายได้เงินต้นปี 2558 หนูต้องเสียภาษีปีไหน และค่าใช้จ่ายจะหักอย่างไรกรณีหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา หักได้ร้อยละเท่าไรคะขอถามเผื่อเพื่อนด้วยค่ะ

ส่วนเพื่อนอีกคน จะซื้อกระเพาะปลาแห้ง มาทอดกับน้ำมัน และขายเป็น "กระเพาะปลาทอดน้ำมัน ที่ห่อเป็นถุงใหญ่ๆ" จะหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา ร้อยละเท่าไรคะขอบพระคุณมากค่ะ”

เรียน คุณมาลีวรรณ นิลอร่าม “Fon Maleewan”ต่อข้อถาม ขอเรียนว่า 

1. กรณีบุคคลธรรมดา “หนู” ทำลูกชิ้นหมูเสร็จช่วงสิ้นปี 2557 แต่นำไปขายได้เงินต้นปี 2558 “หนู” ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปี 2558 เพราะต้องรับรู้เงินได้ตามเกณฑ์เงินสด 

2. สำหรับการคำนวณหักค่าใช้จ่าย หากประกอบกิจการเป็น “ภัตตาคาร” ซึ่งเป็นสถานที่ที่จัดให้ประชาชนเข้าไปบริโภคได้ หรือ “การปรุงอาหาร หรือเครื่องดื่มจำหน่าย” อันเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร ก็ให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมา ในอัตราร้อยละ 70 ของเงินได้พึงประเมิน หรือจะเลือกหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรก็ได้ ตามมาตรา 8 (7) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบันที่ 11) พ.ศ. 25023. กรณีซื้อกระเพาะปลาแห้ง มาทอดกับน้ำมัน และขายเป็น "กระเพาะปลาทอดน้ำมัน ที่ห่อเป็นถุงใหญ่ๆ ถือเป็น “การปรุงอาหารจำหน่าย” อันเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร ก็ให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมา ในอัตราร้อยละ 70 ของเงินได้พึงประเมิน หรือจะเลือกหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรก็ได้ ตามมาตรา 8 (7) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบันที่ 11) พ.ศ. 2502 เช่นเดียวกัน


ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการออกใบกำกับภาษีประสงค์จะออกใบกำกับภาษีหลายเล่มภายในเวลาเดียวกัน

ที่มา:-จดหมายตอบข้อหารือกรมสรรพากร

เลขที่หนังสือ : กค 0702/2488

วันที่ : 28 เมษายน 2557

เรื่อง : ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการออกใบกำกับภาษี

ข้อกฎหมาย : มาตรา 87 และมาตรา 87/3 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร

ข้อหารือ

          บ. เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม มีสถานประกอบการเพียงแห่งเดียว ประกอบกิจการให้บริการเกี่ยวกับเครื่องปรับอากาศ ประสงค์จะออกใบกำกับภาษีหลายเล่มภายในเวลาเดียวกัน เนื่องจากลูกค้าของท่านมีทั้งลูกค้าที่ชำระเงินทันทีกับลูกค้าที่ค้างชำระ ซึ่งจะทำให้เลขที่ของใบกำกับภาษีไม่เรียงลำดับกัน ท่านจึงขอทราบว่า สามารถกระทำได้หรือไม่

แนววินิจฉัย

          กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนจะจัดทำใบกำกับภาษีหลายเล่ม โดยแยกเล่มกันระหว่างลูกค้าที่ชำระทันทีกับลูกค้าที่ค้างชำระนั้น สามารถกระทำได้ แต่จะต้องออกใบกำกับภาษีทุกครั้งที่ความรับผิดในการเสียภาษีเกิดขึ้น โดยใบกำกับภาษีนั้นต้องมีข้อความตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งยังสามารถจัดทำรายงานภาษีขายตามมาตรา 87(1) แห่งประมวลรัษฎากร แยกออกเป็นการขายสินค้าให้แก่ลูกค้าที่ชำระทันทีกับการขายสินค้าให้แก่ลูกค้าที่ค้างชำระได้ ทั้งนี้ ตามข้อ 4 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 89) เรื่อง กำหนดแบบ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการจัดทำรายงาน การลงรายการในรายงาน การเก็บใบกำกับภาษีและเอกสารหลักฐานอื่นที่ใช้ประกอบการลงรายงานภาษีซื้อตามมาตรา 87 และมาตรา 87/3 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2542

เลขตู้ : 77/39041

วันพฤหัสบดีที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2558

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีการขายที่ดินซึ่งถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน

เรื่อง : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีการขายที่ดินซึ่งถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน
เลขที่หนังสือ กค 0811/00872 ลงวันที่ 23 มกราคม 2541
ข้อกฎหมาย : ประเด็นปัญหา

ข้อหารือ : 
ผู้ขายและพวก ได้ร่วมกันซื้อที่ดิน เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2534 โดยได้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันและได้จดทะเบียนบรรยายส่วนไว้ ต่อมาในปี 2535 ผู้ขายและพวกบางคนได้ประสบภาวะขาดแคลนทางการเงินจึงมีความจำเป็นต้องขายที่ดินดังกล่าวไป เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2535 โดยได้โอนที่ดินดังกล่าวให้แก่บริษัท ซึ่งเป็นผู้ซื้อในลักษณะเดิมที่ได้ซื้อมา ผู้ขายและพวกบางคนได้นำรายรับที่ได้จากการขายที่ดินตามส่วนที่ตนมีไปยื่นแบบ ภ.ธ.40 เพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะแล้ว ดังนั้น ในส่วนของบางคน ซึ่งยังมิได้นำรายรับมาเสียภาษีธุรกิจเฉพาะพวกที่ยังมีชีวิตอยู่จะต้องรับผิดชอบในหนี้ภาษี หรือไม่ อย่างไร

แนววินิจฉัย :
1. ตามข้อเท็จจริง แม้ในโฉนดดังกล่าวจะได้มีการบรรยายส่วนการถือกรรมสิทธิ์ไว้ แต่เมื่อไม่ได้จดทะเบียนบรรยายถึงว่า ของใครอยู่ส่วนไหนเป็นจำนวนเนื้อที่เท่าใดชัดแจ้งแล้ว กรณีถือได้ว่าบุคคลเหล่านั้นเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม ตามมาตรา 1356 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ประกอบกับเมื่อตามข้อเท็จจริง บุคคลทั้งหมดได้ที่ดินดังกล่าวมาพร้อมกันและได้ขายให้กับผู้ซื้อซึ่งเป็นบริษัทเดียวกันในเวลาพร้อมกัน มิใช่แต่ละคนแบ่งแยกขายเฉพาะส่วนของตน กรณีถือได้ว่าบุคคลเหล่านั้นมีเจตนาร่วมลงทุนในการซื้อขายที่ดินแปลงดังกล่าว จึงต้องเสียภาษีในนามห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล เจ้าของกรรมสิทธิ์รวมแต่ละคนจะแยกยื่นเสียภาษีในนามของตนเองไม่ได้
2. ตามข้อเท็จจริง เมื่อผู้ขายและพวกบางคนได้นำรายรับที่ได้จากการขายที่ดินตามส่วนที่ตนมี ไปยื่นแบบ ภ.ธ.40 เพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะในนามของแต่ละบุคคลแล้ว เข้าลักษณะเป็นการยื่นแบบแสดงรายการผิดหน่วยภาษี เนื่องจากในการเสียภาษีในนามของห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล บุคคลผู้เข้าร่วมในคณะบุคคลดังกล่าวต้องรับผิดร่วมกันเพื่อหนี้ทั้งปวงของห้างโดยไม่มีจำกัด ทั้งนี้ตามมาตรา 1025 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น ผู้ขายและพวก จึงต้องรับผิดร่วมกันในหนี้ภาษีอากรจากการขายที่ดินดังกล่าว โดยกรมสรรพากรมีสิทธิจะเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้แต่คนใดคนหนึ่งสิ้นเชิงหรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก แต่ลูกหนี้ทั้งปวงก็ยังคงต้องผูกพันอยู่ทั่วทุกคนจนกว่าหนี้นั้นจะได้ชำระเสร็จสิ้นเชิง ทั้งนี้ ตามมาตรา 291 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

วันอาทิตย์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2558

เลือกอันไหนดีครับ จดทะเบียน ห้างหุ้นส่วน (หจก.) หรือ บริษัท (บจก.) เปรียบเทียบข้อดีข้อเสีย.

จดทะเบียน ห้างหุ้นส่วน (หจก.) หรือ บริษัท (บจก.) เปรียบเทียบข้อดีข้อเสีย

1.ความรับผิดชอบตามกฎหมาย

ผู้ถือหุ้นในบริษัท จะรับผิดชอบเพียงมูลค่าหุ้นที่ถือและชำระแล้ว หรือค้างชำระ
แต่หุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วน รับผิดชอบไม่จำกัด ครับ

2.ค่าธรรมเนียมราชการ เฉพาะกระทรวงพาณิชย์และรับรองเอกสาร

บริษัทเฉพาะต้นทุนค่าธรรมเนียมจ่ายประมาณ                7,500 บาท
ห้างหุ้นส่วน เฉพาะค่าธรรมเนียมจ่ายประมาณ                2,800 บาท
หมายเหตุ:-ไม่รวมค่าใช้จ่ายจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เลขประจำตัวผู้เสียภาษี และประกันสังคม

3.การทำบัญชีและการเสียภาษี ตามกฎหมาย
เหมือนกันทุกประการ ครับ

4.การรับรองงบการเงินประจำปี

บริษัทต้องลงโฆษณาเชิญประชุมผู้ถือหุ้นนสพ.ท้องถิ่นปีละครั้ง           500 บาท/ปี
ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลไม่ต้องลงโฆษณา                                                  0  บาท/ปี

5.การเปลี่ยนสัดส่วนของเจ้าของนิติบุคคลระหว่าง ห้างหุ้นส่วน หรือ บริษัท

บริษัทกิจการสามารถเปลี่ยนรายชื่อผู้ถือหุ้นของกิจการได้โดยตรงโดยกิจการเอง..ฟรี

แต่กรณีห้างหุ้นส่วนต้องไปแจ้งจดทะเบียนที่กระทรวงพาณิชย์ เฉพาะค่าธรรมเนียมราชการ

จดเอาชื่อหุ้นส่วนเดิมออก                                                  คนละ      300   บาท
จดเพิ่มชื่อหุ้นส่วนเข้าใหม่                                                  คนละ      300   บาท
กรณีไม่ได้ไปเองต้องจ่ายค่าทนายความรับรองครั้งละ ประมาณ        500   บาท




สรุป ถ้าจะต้องเลือกจดทะเบียนนิติบุคคลระหว่าง ห้างหุ้นส่วน หรือ บริษัท  

แนะนำให้เลือกจดทะเบียนบริษัท แม้ว่าค่าธรรมเนียมครั้งแรกจะแพงกว่าเล็กน้อยแต่

ต้นทุนการเปลี่ยนแปลงหุ้นส่วนไม่มี และดูดีกว่าในมุมมองลูกค้า 

ขณะที่ค่าใช้จ่ายทางบัญชีและภาษีหลังจากนั้นเหมือนกันห้างหุ้นส่วน ทุกประการ ครับ


วันศุกร์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2558

การประกอบกิจการสถานพยาบาลที่จะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม

เลขที่หนังสือ: กค 0702/2994
วันที่: 15 พฤษภาคม 2557
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการประกอบกิจการสถานพยาบาล
ข้อกฎหมาย: มาตรา 81(1)(ญ) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          1. ห้างฯ จดทะเบียนนิติบุคคล เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2547 และจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2547 สำนักงานตั้งอยู่กรุงเทพมหานคร ประกอบกิจการให้บริการห้องแล็บ วิจัยชิ้นเนื้อ ลักษณะการประกอบกิจการ คือ ให้บริการห้องแล็บ วิจัยชิ้นเนื้อ โดยรับตรวจชิ้นเนื้อของผู้ป่วยโรงพยาบาลที่ส่งมาให้ และรับจากผู้ป่วยโดยตรงที่แพทย์แนะนำมาให้ตรวจ เพื่อวิเคราะห์และวิจัยโดยพยาธิแพทย์ รวมถึงให้คำปรึกษาวางแผนร่วมกับแพทย์เจ้าของไข้ โดยลูกค้าของห้างฯ ได้แก่ โรงพยาบาลต่างๆ บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลบ้างเล็กน้อย เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2553 ห้างฯ ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาลและห้างฯได้ออกใบกำกับภาษีขายนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) โดยใช้ภาษีขายหักภาษีซื้อ มีภาษีชำระทุกเดือนภาษี

          2. กรณีการประกอบกิจการสถานพยาบาลของห้างฯดังกล่าว จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่

          3. เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2554 ห้างฯ ได้ยื่นแบบคำขอถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.08)เนื่องจากทราบว่า เป็นผู้ประกอบการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81 (1) (ญ) แห่งประมวลรัษฎากร และได้รับอนุมัติให้ถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ต่อมากรมสรรพากรได้แจ้งการขีดชื่อเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.79) เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2555

          4. ขอทราบว่าความเห็นดังต่อไปนี้ถูกต้อง หรือไม่
               4.1 กรณีภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อห้างฯ ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาล เมื่อวันที่9 กุมภาพันธ์ 2553 ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81 (1) (ญ) แห่งประมวลรัษฎากร "การให้บริการรักษาพยาบาลของสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล" เป็นผลให้ห้างฯ มิได้ประกอบกิจการที่อยู่ในข่ายต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/2 (1) แห่งประมวลรัษฎากร นับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาล เป็นต้นไป ห้างฯ จึงไม่มีสิทธิดังต่อไปนี้
                    (1) ห้างฯ ไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษีขายสำหรับรายได้จากการให้บริการดังกล่าว ดังนั้น ใบกำกับภาษีขายที่ห้างฯ ได้ออกไปนับตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2553 จึงเป็นใบกำกับภาษีที่ออกโดยไม่มีสิทธิออก ตามมาตรา 86/13 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งห้างฯ จะต้องรับผิดเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบกำกับภาษีพร้อมเบี้ยปรับเป็นเงินสองเท่าของจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 89 (6) แห่งประมวลรัษฎากร
                    (2) ห้างฯ ไม่มีสิทธินำภาษีซื้อสำหรับกิจการสถานพยาบาลมาใช้เป็นเครดิตในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องเสียภาษี ตามมาตรา 82/3 และมาตรา 82/5 (6) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42) เรื่อง การกำหนดภาษีซื้อที่ไม่ให้นำไปหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 82/5 (6) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2535
                    (3) กรณีภาษีซื้อที่ไม่มีสิทธินำมาถือเป็นเครดิต ห้างฯ ต้องยื่นแบบเพิ่มเติมชำระภาษีพร้อมเงินเพิ่ม เบี้ยปรับ ตามมาตรา 89/1 และมาตรา 89 (3) (4) แห่งประมวลรัษฎากร

               4.2 กรณีภาษีเงินได้นิติบุคคล เนื่องจากก่อนหน้านี้ ห้างฯ อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มรายได้ตามแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล (ภ.ง.ด.50) จะต้องเป็นรายได้ที่ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อห้างฯ ได้ออกจากระบบภาษีมูลค่าเพิ่มรายได้ตามแบบ ภ.ง.ด.50 จะต้องเป็นรายได้ที่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนั้น จึงต้องนำภาษีมูลค่าเพิ่มในช่วงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2553 ถึงวันที่ 19 มกราคม 2555เป็นรายได้ในแบบ ภ.ง.ด.50 ด้วย
แนววินิจฉัย          1. กรณีภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามข้อเท็จจริงห้างฯ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อวันที่ 21มิถุนายน 2547 ประกอบกิจการให้บริการห้องแล็บ วิจัยชิ้นเนื้อ โดยรับตรวจชิ้นเนื้อของผู้ป่วยที่โรงพยาบาลส่งมาให้และรับจากผู้ป่วยโดยตรงเพื่อทำการวิเคราะห์ วิจัย โดยพยาธิแพทย์ รวมถึงให้คำปรึกษาวางแผนร่วมกับแพทย์เจ้าของไข้ ต่อมาเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2553 ห้างฯ ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2553 ซึ่งเป็นวันที่ห้างฯ ประกอบกิจการให้บริการรักษาพยาบาลของสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล จึงเข้าลักษณะเป็นการให้บริการรักษาพยาบาลของสถานพยาบาล ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81 (1) (ญ) แห่งประมวลรัษฎากร และห้างฯไม่มีสิทธิแจ้งต่ออธิบดีกรมสรรพากรเพื่อจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81/3 แห่งประมวลรัษฎากร โดยห้างฯ มีหน้าที่ต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.09) พร้อมคืนใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.20) ณ สถานที่ซึ่งได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ ภายในสิบห้าวันนับจากวันเลิกประกอบกิจการ และมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับสินค้าคงเหลือและหรือทรัพย์สินที่ห้างฯ มีไว้ในการประกอบกิจการ ณ วันเลิกประกอบกิจการ โดยมูลค่าของฐานภาษีให้ถือตามราคาตลาด ณ วันเลิกประกอบกิจการ และไม่ต้องออกใบกำกับภาษีแต่อย่างใด ส่วนรายงานเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม ห้างฯ ไม่มีหน้าที่จัดทำอีกต่อไป แต่ต้องเก็บและรักษารายงานที่ตนมีหน้าที่ต้องเก็บรักษาอยู่ในวันเลิกประกอบกิจการต่อไปอีกสองปี ทั้งนี้ ตามมาตรา 77/1(8)(ฉ) มาตรา 79/3(5) มาตรา 85/15 มาตรา 87 มาตรา 87/3(2) และมาตรา 78/3(5) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับกฎกระทรวง ฉบับที่ 189 (พ.ศ. 2534) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มบางกรณี และมีผลทำให้
          1.1 ห้างฯ ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษีและเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้รับบริการ และไม่มีสิทธิขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ถูกผู้ประกอบการจดทะเบียนอื่นเรียกเก็บ ดังนั้น
                    (1) หากปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ชำระไว้แล้วมีจำนวนมากกว่าภาษีมูลค่าเพิ่มที่ได้รับคืน ห้างฯ เป็นผู้มีสิทธิขอคืนตามนิยามที่กำหนดไว้ในข้อ 4 ของระเบียบกรมสรรพากรว่าด้วยการคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม พ.ศ. 2539 โดยยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากร (ค.10) ณ ที่ว่าการอำเภอท้องที่ที่ผู้ขอคืนมีภูมิลำเนาภายในสามปีนับแต่วันที่ได้ชำระภาษี ตามมาตรา 84/1 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 9.3 ของระเบียบกรมสรรพากรฉบับดังกล่าว
                    (2) หากปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ชำระไว้แล้วมีจำนวนน้อยกว่าภาษีมูลค่าเพิ่มที่ได้รับคืนให้ สท. กรุงเทพมหานคร 23 แจ้งเป็นหนังสือแจ้งการสั่งคืนเงินภาษีอากรผิดพลาด (ค.31)ไปยังห้างฯ เพื่อให้ส่งคืนเงินภาษีภายในกำหนดเวลา 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งเป็นหนังสือ เนื่องจากห้างฯได้รับเงินภาษีไปโดยปราศจากมูลที่จะอ้างกฎหมายได้และเป็นทางให้กรมสรรพากรเสียเปรียบอันเป็นลาภมิควรได้ ตามมาตรา 406 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หากห้างฯ มิได้ส่งคืนเงินภาษีในเวลาที่กำหนดให้ สท. กรุงเทพมหานคร 23 ดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลเรียกคืนเงินภาษีดังกล่าวภายในกำหนดอายุความต่อไป โดยกรมสรรพากรมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยกรณีผิดนัดได้ ตามมาตรา 224 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
          1.2 เมื่อห้างฯ ประกอบกิจการให้บริการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ห้างฯ จึงมิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษี ตามมาตรา 86/13 วรรคแรก แห่งประมวลรัษฎากร การที่ห้างฯ ได้ออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิออกตามกฎหมาย ห้างฯ ต้องรับผิดในภาษีมูลค่าเพิ่มตามจำนวนที่ปรากฏในใบกำกับภาษี ตามมาตรา 86/13 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร พร้อมเบี้ยปรับอีกสองเท่าของจำนวนภาษีตามใบกำกับภาษี ตามมาตรา 89(6) แห่งประมวลรัษฎากร และมีความรับผิดทางอาญาตามมาตรา 90/4(3) แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับผู้ประกอบการจดทะเบียนอื่นๆ ที่ได้รับใบกำกับภาษีดังกล่าวไม่มีสิทธินำภาษีซื้อไปใช้ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากเป็นภาษีซื้อต้องห้าม ตามมาตรา 82/5(5) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น ผู้ประกอบการจดทะเบียนดังกล่าว จึงต้องยื่นแบบ ภ.พ.30 เพิ่มเติม เพื่อปรับปรุงภาษีซื้อให้ถูกต้องต่อไป ตามมาตรา 83/4 แห่งประมวลรัษฎากร โดยต้องรับผิดชำระภาษีเพิ่มเติมพร้อมทั้งเบี้ยปรับ ตามมาตรา 89(3) มาตรา 89(4) และเงินเพิ่ม ตามมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร นอกจากนี้การนำใบกำกับภาษีที่ออกโดยบุคคลผู้ไม่มีสิทธิออกตามกฎหมายไปใช้ในการคำนวณภาษี ต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับอีกสองเท่าของจำนวนภาษีตามใบกำกับภาษี ตามมาตรา 89(7)แห่งประมวลรัษฎากรด้วย และหากผู้ประกอบการจดทะเบียนดังกล่าวมีเจตนานำใบกำกับภาษีที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไปใช้ในการเครดิตภาษี โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นใบกำกับภาษีที่ออกโดยบุคคลผู้ไม่มีสิทธิออกตามกฎหมายมีความรับผิดทางอาญาตามมาตรา 90/4(7) แห่งประมวลรัษฎากร

          2. กรณีภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในข้อ 1 ตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์2553 ซึ่งเป็นวันที่ห้างฯ ประกอบกิจการให้บริการรักษาพยาบาลของสถานพยาบาลตามกฎหมาย ว่าด้วยสถานพยาบาล เข้าลักษณะเป็นการให้บริการรักษาพยาบาลของสถานพยาบาล ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81 (1) (ญ) แห่งประมวลรัษฎากร และห้างฯ ไม่มีสิทธิแจ้งต่ออธิบดีกรมสรรพากรเพื่อจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81/3 แห่งประมวลรัษฎากร การที่ห้างฯ ได้เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้รับบริการ และได้ยื่นแบบแสดงรายการและเสียภาษีมูลค่าเพิ่มไว้แล้ว ถือว่า เป็นการยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มไว้โดยผู้ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีแต่ได้ชำระภาษีไว้ ห้างฯ จึงมีสิทธิขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ตามมาตรา 84/1(2) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 4(5) ของระเบียบกรมสรรพากรว่าด้วยการคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม พ.ศ. 2539 สำหรับผู้รับบริการไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายกำหนดให้ขอคืนจากกรมสรรพากรได้ ผู้รับบริการจึงต้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มจากห้างฯ ที่เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้รับบริการโดยตรง ดันั้น ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ห้างฯ ได้เรียกเก็บจากผู้รับบริการ โดยปราศจากมูลที่จะอ้างกฎหมายได้ และทำให้ผู้รับบริการเสียเปรียบอันเป็นลาภมิควรได้ ห้างฯ มีหน้าที่ตามกฎหมายต้องคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่เรียกเก็บให้กับผู้รับบริการ ตามมาตรา 406 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ห้างฯ จึงไม่ต้องนำภาษีมูลค่าเพิ่มที่ห้างฯ ได้เรียกเก็บจากผู้รับบริการมารวมคำนวณเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร แต่ห้างฯ มีสิทธินำภาษีซื้อที่ถูกผู้ประกอบการจดทะเบียนเรียกเก็บเนื่องจากการซื้อสินค้า หรือรับบริการ เพื่อนำมาใช้ในการประกอบกิจการสถานพยาบาลดังกล่าวตามมาตรา 82/4 แห่งประมวลรัษฎากร มาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิของห้างฯ ตามมาตรา65 ตรี (6 ทวิ) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 77/39049

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน กรณีเงินได้ค่าน้ำมันรถและค่าโทรศัพท์มือถือทุกเดือน เป็นจำนวนแน่นอนในลักษณะเหมาจ่าย ไม่ต้องมีใบเสร็จนำไปแสดง

เลขที่หนังสือ: กค 0702/4339

วันที่: 24 มิถุนายน 2557
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน
ข้อกฎหมาย: กรณีเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน

ข้อหารือ          นางสาว ก. ทำงานอยู่ที่บริษัทฯ อายุงานต่อเนื่องเป็นเวลา 1 ปี 4 เดือน 19 วัน เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2556 บริษัทฯ ได้เลิกจ้างนางสาว ก. เนื่องจากได้ยุบหน่วยงานบางหน่วยงานเพื่อให้สอดคล้องกับแผนงานใหม่ ทำให้นางสาว ก. พ้นสภาพจากการเป็นพนักงานบริษัทฯ และได้รับเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน เป็นเงิน 358,045 บาท ซึ่งเงินค่ารถและค่าโทรศัพท์บริษัทฯ จ่ายให้ทุกเดือนเป็นจำนวนแน่นอน และไม่ต้องมีใบเสร็จไปแสดงต่อบริษัทฯนอกจากนั้นยังพบว่า ได้มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7316/2549 พิพากษาว่า "ลูกจ้างได้รับเงินค่าน้ำมันรถและค่าโทรศัพท์มือถือทุกเดือน เป็นจำนวนแน่นอนในลักษณะเหมาจ่าย ไม่ต้องมีใบเสร็จนำไปแสดงต่อนายจ้าง มิใช่เป็นเงินสวัสดิการหรือเงินช่วยเหลือที่จ่ายให้เป็นครั้งคราว แต่มีลักษณะเป็นเงินได้ที่ได้รับเนื่องจากการทำงานปกติ เป็นค่าจ้าง" และได้มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5024/2548 วินิจฉัยในทำนองเดียวกันจึงขอให้กรมสรรพากรวินิจฉัยว่า "ค่าจ้างหรือเงินเดือนค่าจ้าง" ให้หมายความรวมถึงเงินค่ารถ และค่าโทรศัพท์ที่บริษัทฯ จ่ายให้ทุกเดือนเป็นจำนวนแน่นอน และไม่ต้องมีใบเสร็จไปแสดงต่อบริษัทฯ ด้วยเพื่อใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานซึ่งได้รับการยกเว้นภาษี ทั้งนี้ เฉพาะค่าชดเชยส่วนที่ไม่เกินค่าจ้างหรือเงินเดือนค่าจ้างของการทำงานสามร้อยวันสุดท้าย แต่ไม่เกินสามแสนบาท
แนววินิจฉัย          กรณีตามข้อเท็จจริง เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2556 นางสาว ก. ถูกบริษัทฯ นายจ้างเลิกจ้างโดยมิใช่ความผิดของลูกจ้าง โดยมีอายุงาน 1 ปี 4 เดือน 19 วัน นางสาว ก. จึงได้รับค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน กรณีลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบหนึ่งปี แต่ไม่ครบสามปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายเก้าสิบวันโดยคำนวณจากค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้าง สำหรับระยะเวลาการทำงานเป็นรายเดือนปกติ ดังนั้น เงินเดือน เงินค่ารถ และค่าโทรศัพท์ที่บริษัทฯ จ่ายให้ทุกเดือนเป็นจำนวนแน่นอนและไม่ต้องมีใบเสร็จไปแสดงต่อบริษัทฯ ซึ่งเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้าง สำหรับระยะเวลาการทำงานปกติเป็นรายเดือนถือว่า เป็นค่าจ้าง ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 จึงต้องนำเงินเดือน เงินค่ารถ และค่าโทรศัพท์ของนางสาว ก. ของการทำงานเก้าสิบวันสุดท้ายมาเป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชยเพื่อการใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามข้อ 2 (51) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร
เลขตู้: 77/39116

สรุปความเห็น:-
เงินค่าน้ำมันรถและค่าโทรศัพท์มือถือทุกเดือน เป็นจำนวนแน่นอนในลักษณะเหมาจ่าย ไม่ต้องมีใบเสร็จนำไปแสดงต่อนายจ้าง มิใช่เป็นเงินสวัสดิการหรือเงินช่วยเหลือที่จ่ายให้เป็นครั้งคราว แต่มีลักษณะเป็นเงินได้ที่ได้รับเนื่องจากการทำงานปกติ ถือเป็นค่าจ้าง"  ทั้งในการเสียภาษีเงินได้ประเภทเงินเดือน ต้องนำรวมในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานะครับ ในมุมกลับกัน ก็ถือเป็นฐานเงินเดือนของการยกเว้นเงินชดเชยเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ด้วยเช่นกัน ครับ


วันอังคารที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2558

ประเภทเงินได้ของนักเขียน ม. 40 (8) , ม 40 (3) และ ม.40 (2) เพื่อเข้าใจต้นทุนการเสียภาษี ครับ

ที่มา :- Fanpages:- สุเทพ พงษ์พิทักษ์

คุณนัฐ “Nattikarn Wongsophanakul” ได้เขียนไปในไทม์ไลน์ “สุเทพ พงษ์พิทักษ์” เมื่อ 30 มกราคม 2558 เวลา 15:12 น. ว่า
“เรียน อาจารย์
อยากทราบกรณีนักเขียนได้รับส่วนแบ่งจากหนังสือที่ตนเขียนจากยอดเล่มที่ขายได้ จากสำนักพิมพ์ โดยต้นทุนการพิมพ์นักเขียนเป็นผู้จ่ายชำระ ไม่ทราบว่าเงินได้ดังกล่าวถือเป็นเงินได้ 40 (8) ประเภทวรรณกรรม ใช่หรือไม่คะ และกรณีใดที่จะเข้าเป็น 40 (3) หรือ 40 (2) คะ
ขอแสดงความนับถือ”
เรียน คุณนัฐ “Nattikarn Wongsophanakul”
ต่อข้อถาม ขอเรียนว่า
เงินได้พึงประเมินของนักเขียน
1. กรณีที่นักเขียนเป็นผู้ลงทุนพิมพ์หนังสือเพื่อจำหน่าย โดยฝากให้สำนักพิมพ์เป็นผู้จัดจำหน่าย ค่าหนังสือก่อนหักรายจ่ายค่าจัดจำหน่ายจากทางสำนักพิมพ์ ถือเป็นเงินได้จากงานวรรณกรรม ตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร รายได้ประเภทนี้ ไม่อยู้ในบังคับที่ต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และเป็นรายได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81 (1)(ฉ) แห่งประมวลรัษฎากร
2. กรณีนักเขียนได้รับค่าลิขสิทธิ์ในบทประพันธ์ของตนเองจากสำนักพิมพ์ ซึ่งตามปกติจะตกลงกันในอัตราร้อยละ 10 ของมูลค่าหนังสือที่พิมพ์จำหน่าย โดยคำนวณจาก ราคาหน้าปก คูณด้วยจำนวนพิมพ์ เงินได้ประเภทนี้เป็นรายได้ที่อยู่ในบังคับที่ต้องถูกหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 (2) แห่งประมวลรัษฎากร โดยคำนวณหักตามอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (อัตราก้าวหน้า) และเป็นรายได้ที่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยถือเป็นรายได้จากการขายสินค้าที่ไม่มีรูปร่าง
อนึ่ง นักประพันธ์อาจได้รับเงินได้ค่านายหน้าจากการขายหนังสือของคนอื่น จึงจะถือเป็นเงินได้พึงประเมินจากการรับทำงานให้ตามมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นรายได้ที่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยถือเป็นรายได้จากการให้บริการตามมาตรา 77/2 (1) แห่งประมวลรัษฎากร

สรุป:- ความเห็นส่วนตัวไม่เกี่ยวข้องกับอ.สุเทพ พงษ์พิทักษ์ นะครับ
1. พิมพ์หนังสือเองขาย ถือเป็นเงินได้ มาตรา 40 ( 8 ) ไม่ถูกหัก ณ ที่จ่าย หัก ค่าใช้จ่ายเหมาได้ (10) การทำวรรณกรรม ร้อยละ 75  ขายหนังสือไม่เสีย VAT มีความเสี่ยงต้องลงเงินจ้างพิมพ์หนังสือ

2.รับค่าลิขสิทธฺ์ในบทประพันธ์ของตนเอง ถือเป็นค่าสิทธฺิ์ ถูกหัก ภาษี ตามอัตราก้าวหน้า เป็นรายได้ที่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ถ้าเกิน 1.8 ล้านบาท
"3. เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 3 ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากฎหมายยอมให้หักค่า ใช้จ่ายได้เฉพาะเงินได้ที่เป็นค่าแห่งลิขสิทธิ์ โดยให้หักเป็นการเหมาได้ร้อยละ 40 ของค่าแห่งลิขสิทธิ์แต่ไม่เกิน 60,000 บาท 

สำหรับค่าแห่งกู๊ดวิลล์ หรือสิทธิอย่างอื่น เงินปี หรือเงินได้ที่มีลักษณะเป็นเงินรายปีอันได้มาจาก พินัยกรรม นิติกรรมอย่างอื่น หรือคำพิพากษาของศาล ไม่ยอมให้หักค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น

ในกรณีสามีและภริยาต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ประเภทนี้ และความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีภาษี ให้ต่างฝ่ายต่างหักค่าใช้จ่ายได้ตามเกณฑ์เดียวกัน"

ข้อดี ไม่ต้องลงทุนทำหนังสือเพิ่ม ถ้าได้เยอะก็เสียภาษีเยอะ เพราะแทบหักค่าใช้จ่ายไม่ได้เลย

3. ค่านายหน้าจากการขายหนังสือให้คนอื่น ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (2) ถูกหัก ภาษี ณ ที่จ่าย ตามอัตราก้าวหน้า เป็นรายได้ที่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ถ้าเกิน 1.8 ล้านบาท

"1. เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 1 และ 2 ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากฎหมายให้หัก ค่าใช้จ่ายเป็นการเหมา ได้ตามเงื่อนไขที่กำหนด ดังนี้

(1) ผู้มีเงินได้สามารถหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ร้อยละ 40 ของเงินได้แต่รวมกันแล้วต้อง ไม่เกิน 60,000 บาท

(2) ในกรณี
สามีภริยา ต่างฝ่ายต่างมีเงินได้และความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีภาษี ให้ต่างฝ่ายต่างหักค่าใช้จ่ายได้ร้อยละ 40 แต่ไม่เกินฝ่ายละ 60,000 บาท "

ข้อดี ไม่ต้องลงทุนเสี่ยง ถ้าได้เยอะก็เสียภาษีเยอะ เพราะแทบหักค่าใช้จ่ายไม่ได้เลย